Tuesday, August 7, 2007

ประวัติศาสตร์มนุษย์

ความหมายของคำว่า “ประวัติศาสตร์” มีความหมายคือ วิชาที่ว่าด้วยความเป็นมาของเหตุการณ์ และเรื่องราวสำคัญต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก อันเกี่ยวพันกับพฤติการณ์ของโลกในอดีต อาจตั้งแต่โลกเริ่มกำเนิด และพฤติการณ์ของมนุษย์ตั้งแต่เริ่มเข้ามามีบทบาทในโลกจากอดีตกาลมาจนปัจจุบันสมัย ประวัติศาสตร์ในสมัยที่มนุษย์ยังไม่รู้จักการเขียนหนังสือหรือจดบันทึกเรื่องราวต่างๆ ลงไว้เป็นลายลักษณ์อักษรนั้นเป็นสมัยที่เราเรียกว่า “สมัยก่อนประวัติศาสตร์” สมัยที่มนุษย์รู้จักการเขียนหนังสือและรู้จักบันทึกเรื่องราวต่างๆไว้เป็นหลักฐานแล้ว เรียกว่า “สมัยประวัติศาสตร์” ซึ่งเริ่มเมื่อประมาณ ๕,๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาลมาแล้ว ซึ่งนักปราชญ์ทางประวัติศาสตร์ได้ช่วยกันบันทึกลงไว้ด้วยตัวอักษรเป็นหลักฐาน เนื้อเรื่องดั้งเดิมของประวัติศาสตร์ จึงอาจเริ่มด้วย ศาสนา วีรชน กษัตริย์ และความเคร่งในศาสนาก็ดี ในระบอบประเพณีก็ดี ทำให้คนสมัยเก่าใช้วิธีการบันทึกประวัติศาสตร์ให้อุดมไปด้วยวรรณศิลป์ เพราะครั้งสมัยอดีตนั้นยังถือว่าวิชาประวัติศาสตร์เป็นแขนงหนึ่งของอักษรศาสตร์ ฉะนั้นเนื้อแท้คือเค้าความจริง จึงมีศิลปะ และความเคร่งประเพณี หรือ ความจงรักภักดีแทรกแซงอยู่ด้วย โดยธรรมเนียมนิยมซึ่งมีเหตุผล นักประวัติศาสตร์ได้ยึดเอาการเริ่มรู้จักการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นเครื่องแบ่งระยะเวลาระหว่างยุคก่อนประวัติศาสตร์ กับ ยุคประวัติศาสตร์ เนื่องจากบันทึกที่เหลือไว้เป็นหลักฐานได้ช่วยให้นักวิชาการสามารถรู้ และทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับกิจกรรมของมนุษย์ซึ่งได้สูญสิ้นไปจากโลกนี้นานมาแล้ว การที่ยึดเอาช่วงการประดิษฐ์ตัวอักษรเป็นหัวเลี้ยวในประวัติศาสตร์มนุษย์ก็นับได้ว่าสมเหตุสมผลดี และแน่นอน เมื่อมีประวัติศาสตร์ก็ต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับมนุษย์เรา การจะกล่าวถึงประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวพันกับมนุษย์เรานี้ ผมจะขอกล่าวถึงบทความ โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ / ปรัชญา (ชุมนุมบทความทางวิชาการ ถวายพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ในโอกาสที่พระชนม์ครบ ๘๐ พรรษา บริบูรณ์) ซึ่งกล่าวไว้อย่างกระชับ และสมบูรณ์ดังนี้ คือ

ได้มีการค้นคว้าวิจัยมนุษย์ในด้านต่างๆ ในฐานะที่เป็นร่างกายด้วย สรีรศาสตร์ (Anatomy) ในฐานะที่เป็นจิตด้วย จิตศาสตร์ (Psychology) และในฐานะที่อยู่ร่วมเป็นประชาคมด้วยสังคมศาสตร์ ส่วนในฐานะประวัติศาสตร์ เรารู้จักมนุษย์ดีขึ้นด้วยการตรวจสอบและวิเคราะห์เรื่องราวที่จารึกสืบต่อกันมา ด้วยการพยายามเข้าใจความหมายของความนึกคิด และการกระทำต่างๆ ของมนุษย์ ด้วยการอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยคำนึงถึงสาเหตุ จุดประสงค์ สถานการณ์ และความเป็นจริง จริงอยู่ที่ว่า วิธีการค้นคว้าทั้งหลายเหล่านี้ทำให้เรารู้มากขึ้น แต่ก็ยังเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่จะเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับมนุษย์อย่างละเอียดลออและโดยสมบูรณ์นั้น ดูออกจะเป็นได้โดยยาก หรือมิฉะนั้นก็เป็นไปไม่ได้เลยถึงแม้ความก้าวหน้าในปัจจุบันจะรุดหน้าไปไกลเพียงไรก็ตาม

เมื่อกล่าวถึงมนุษย์ก็จำเป็นต้องกล่าวถึงโลกด้วย “มนุษย์ และ โลก” คำเชื่อมว่า “และ” นี้มีความสำคัญต่อมนุษย์ แต่ไม่มีความสำคัญต่อโลก เพราะจะคิดได้โดยง่ายโลกสามารถดำรงอยู่ตามลำพังได้โดยไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์กับชีวิตนั้นได้ แต่ไม่อาจนึกภาพมนุษย์ได้โดยปราศจากโลก เรามีชีวิตอยู่ตั้งแต่ลมหายใจแรกจนถึงลมหายใจสุดท้ายพัวพันอยู่กับโลก เรามาสู่โลก ไม่ใช่โลกมาสู่เรา และเราจากโลกไปในขณะที่โลกยังดำรงอยู่ต่อไปโดยไม่แยแสกับเรา

โลกซึ่งเราอยู่ในและอยู่กันนี้ มิใช่จะเป็นโลกแห่งประวัติศาสตร์ และมนุษย์ก็มิใช่จะเป็นมนุษย์ในแง่ของประวัติศาสตร์โดยอัตโนมัติเสียทีเดียว การเขียนประวัติศาสตร์มิใช่การเขียนประวัติชีวิตของบุคคลหรือของกลุ่มสังคมใดสังคมหนึ่งแต่เป็นเหตุการณ์ทางการเมืองซึ่งกระทบกระเทือนต่อการกระทำและโชคชะตาของประชาชาตินั้นๆ และเพราะเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมือง ประวัติศาสตร์จึงพัวพันเป็นประการสำคัญอยู่กับสภาวะแวดล้อมของการปกครอง ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามวิถี สงครามโลกทั้งสองครั้งแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าประวัติศาสตร์มิใช่ประวัติศาสตร์แห่งวัฒนธรรม หรือประวัติศาสตร์ผลงานทางสติปัญญาความนึกคิด มิใช่ประวัติศาสตร์แห่งความคิดเห็น หรือประวัติศาสตร์ปัญหาทั้งหลายแหล่ แต่เป็นประวัติศาสตร์โลกตามความหมายทางการเมือง แม้แต่สงครามซึ่งอ้างการขัดแย้งทางศาสนาเป็นต้นเหตุก็เป็นต้นเหตุผิวเผินที่ปรากฏอยู่เบื้องบน แต่สาเหตุลึกซึ้งที่แท้จริงนั้นมิอาจหลีกเลี่ยงเรื่องของการเมืองไปได้

แต่อย่างใดก็ตาม การนำเอาประวัติศาสตร์เข้ามาพัวพันกับปัญหาทางปรัชญา ซึ่งเกี่ยวกับธรรมชาติที่แท้จริงของโลก และของมนุษย์นั้นเพิ่มจะเริ่มต้นด้วย เฮเกล (Hegel) ความคิดที่ว่าปัญหาทั้งหลายทางปรัชญาจะได้รับการพิจารณาได้ก็ด้วยวิถีทางของประวัติศาตร์เท่านั้น เป็นความคิดที่เริ่มมาเพียงเมื่อ ๑๕๐ ปีที่แล้วมา แล้วก็หายไปอีก ในระยะเวลาที่ผ่านมาตามความคิดเห็นของปราชญ์กรีกโบราณนั้น มิใช่เป็นคุณสมบัติจำเป็นตามธรรมชาติของมนุษย์แต่ที่จำเป็นและเป็นธรรมชาติวิสัยก็คือ มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีความโน้มเอียงที่จะมีชีวิตอยู่ร่วมกันกับผู้ที่มีความคล้ายคลึงกัน ( ผิว เชื้อชาติ ความเชื่อถือ ) แต่ในระดับที่สูงมากกว่าระดับของฝูงผึ้ง และฝูงสัตว์เลี้ยง นอกจากความโน้มเอียงของมนุษย์ที่จะอยู่ร่วมกันเป็นประชาคมนี้ มนุษย์ยังมีความสามารถในการเสริมสร้างและผูกพันประชาคมไว้ด้วยกันโดยความเข้าใจในภาษาและคำพูด

มนุษย์เป็นมนุษย์ก็ต่อเมื่อเป็นเพื่อนมนุษย์ และจะเป็นเพื่อนมนุษย์ได้ก็ต่อเมื่อได้ร่วมใช้ชีวิตของตนเองกับมนุษย์อื่นด้วยการติดต่อเข้าใจกันทางภาษา การเข้าใจซึ่งกันและกันในสิ่งซึ่งให้คุณและให้โทษ ในสิ่งซึ่งถูกต้องและผิด ในสิ่งซึ่งยุติธรรมและอยุติธรรม ในสิ่งซึ่งจริงและไม่จริง เราอาจพูดถึงมนุษย์ในแง่ที่เป็นสัตว์ที่มีเหตุผล มีความเข้าใจ และเป็นสัตว์สังคม หรือสัตว์การเมือง โดยไม่มีความจำเป็นต้องยุ่งเกี่ยวอ้างถึงประวัติศาสตร์ ประวัตศาสตร์อาจพัวพันกับมนุษย์ แต่มิได้มีส่วนกำหนดกฎเกณฑ์ในความเป็นมนุษย์ ที่ว่ามนุษย์ดำรงอยู่ในแง่ของประวัติศาสตร์นั้น เป็นความคิดซึ่งเริ่มมาในอดีตซึ่งไม่นานนัก แต่ทว่ามีจุดเริ่มต้นที่ไกลออกไปอีกในความเข้าใจของโลกตามเทววิทยาของคริสต์ศาสนา เมื่อจักรวาลกลายเป็นสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าสร้างสรรค์ขึ้นมา ความนึกคิดเกี่ยวกับ ประวัติศาตร์ ก็อาจสืบเนื่องมาจากประวัติศาสตร์โบรัมโบราณ ซึ่งมีเรื่องการสร้างโลกและการสร้างมนุษย์ด้วย และในที่สุดก็มาให้ความสนใจในมนุษย์ในฐานะที่เป็น ชีวิตที่ดำรงอยู่ในแง่ของประวัติศาสตร์

กรีกโบราณมีความประทับใจอย่างลึกซึ้ง ในกฎเกณฑ์ความเป็นระเบียบแบบแผนที่หมุนเวียนอยู่ชั่วนิจนิรันดร์ ไม่มีผู้ใดสมัยนั้นที่จะให้ระบบจักรวาลที่ได้รับการจัดแจงเป็นระเบียบเรียบร้อยดีแล้วนี้ มีความสัมพันธ์กับความผันแปรไม่แน่นอนของสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวกับมนุษย์ในประวัติศาสตร์ของโลก ต่างรายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์และการกระทำที่ยิ่งใหญ่ในยุคสมัยของตนไว้ แต่สงครามระหว่างกรีกกับเปอร์เซีย ระหว่างเอเธนส์ กับ สปาร์ตา และความเจริญรุ่งเรืองของโรมจนมีอำนาจเป็นศูนย์กลางของโลกเหล่านี้ ไม่เป็นต้นเหตุให้นักปรัชญาสมัยนั้นประดิษฐ์โครงสร้างปรัชญาทางประวัติศาสตร์ขึ้นมา เหตุผลที่ไม่มีปรัชญาทางประวัติศาสตร์นี้มิใช่เพราะความเพิกเฉยไม่ไยดีต่อเหตุการณ์ที่สำคัญ แต่เป็นเพราะได้รู้แจ้งเห็นจริงและตระหนักว่าจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญเพียงครั้งเดียว และการเปลี่ยนแปลงต่างๆนั้น อย่างดีก็เพียงให้รายงานข่าว เป็นเรื่องราว หรืออีกนัยหนึ่งเป็นประวัติศาสตร์แต่มิอาจเป็นความรู้ที่แท้จริงได้

มีข้อคิดอยู่เพียงประการเดียว ถึงกระนั้นก็ค่อนข้างสำคัญ ซึ่งนักประวัติศาสตร์กรีกเน้นที่ว่า การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองอันเป็นการจารึกเรื่องราวในประวัติศาสตร์นั้นเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เพราะธรรมชาตินี้จะไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปเลยโดยหลักการแล้ว จึงเป็นที่ประจักษ์สำหรับเหตุการณ์ทำนองนี้ในอดีตและปัจจุบันจะเกิดขึ้นเช่นกันในอนาคต ในวิถีทางเดียวกันและคล้ายคลึงกัน อนาคตไม่อาจนำมาซึ่งสิ่งที่ใหม่อย่างสมบูรณ์ ในเมื่อเป็นธรรมชาติของทุกสิ่งทุกอย่างที่จะมีขึ้นแล้วก็สูญหายไป

การที่ทุกชาติ ทุกรัฐ ทุกเมือง และทุกบุคคลผู้ทรงอำนาจทั้งหลายจะต้องประสบกับจุดจบที่ไม่มีทางหลีกเลี่ยง และเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาตินั้น สำหรับความเข้าใจและความรู้สึกของชาวกรีกและโรมันโบราณมีความหมายเช่นเดียวกับข้อเท็จจริงที่ว่า มนุษย์ทุกคนต้องตาย ทุกอย่างในโลกนี้ซึ่งอุบัติย่อมผันแปรสลายไป ความผันแปรสลายตัวไปของทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นมนุษย์ ที่เกี่ยวกับมนุษย์ ซึ่งผิดแปลกอย่างเห็นได้ชัดจากความแน่นอนของการโคจรของดวงดาวในท้องฟ้านี้ เป็นเหตุผลที่ง่ายและกระจ่างแจ้ง ความก้าวหน้าภายใต้จิตสำนึกของเสรีภาพหรือเพราะประวัติศาสตร์ มีจุดหมายปลายทางที่จะสร้างสรรค์สังคมที่ปราศจากชั้นวรรณะ ภายในอาณาจักรแห่งเสรีภาพมนุษย์ ซึ่งมีความหมายเป็นคำเดียวกับ ผู้ที่ต้องตาย! อันเป็นความรู้สึกที่แท้จริงและลึกซึ้งสำหรับคำ ความผันแปรไม่แน่นอน ความอนิจจังของทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นมนุษย์ที่เกี่ยวกับมนุษย์ เขารู้สึกจำเป็นที่จะต้องจารึกการกระทำ หรือเหตุการณ์ยิ่งใหญ่ไว้เป็นประวัติศาสตร์ เป็นความพยายามเพื่อให้บรรลุถึงความเป็นอมตะไม่มากก็น้อย เพราะถ้าปราศจากประวัติศาสตร์ไว้ช้าไปแล้ว เหตุการณ์เหล่านี้ก็จะจมลงสู่ห้วงที่ว่างเปล่าแห่งความลืม เพราะมนุษย์ไม่มีส่วนร่วมในความเป็นอมตะของพระเจ้า

การกระทำของมนุษย์จึงต้องการประวัติศาสตร์ เพื่อที่ว่าการกระทำหรือเหตุการณ์เหล่านี้จะมีชีวิตยืนยาวกว่ามนุษย์ ซึ่งเป็นผู้กระทำและเป็นผู้ก่อเหตุการณ์นั้นเอง ในเมื่อมนุษย์เองนี้เป็นผู้กำหนดประวัติศาสตร์ และอะไรล่ะที่เป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ในการกระทำนั้นๆ ดังจะเห็นได้ว่าเกิดมาจากความเชื่อ เมื่อเกิดความเชื่อก็เกิดศรัทธา เมื่อเกิดศรัทธาก็เกิดศาสนาตามมา ดังที่จะกล่าวต่อไปนี้

ประวัติศาสตร์ ชาย - หญิง
(บทความนี้ผู้เขียนเรียบเรียงขึ้นมาเพื่อให้ผู้หญิงได้มีการรู้ที่เท่าทันตามยุคสมัย )

ยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งมีชื่อเรียกกันว่า ยุคหะรัปปา (Harappan) เป็นสังคมที่ประกอบด้วยชน สองกลุ่มใหญ่ คือ พวกอารยัน กับ พวกทราวิฑ (ดราวิเดี่ยน) พวกอารยัน คือ พวกชนพเนจรเผ่าหนึ่งที่อพยพหรือเร่ร่อนเข้ามายึดแผ่นดินอินเดียเมื่อประมาณ ๒,๐๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช แต่ในขณะที่พวกทราวิฑเป็นพวกที่อยู่ติดแผ่นดินอินเดียมาก่อน พวกอารยันเมื่ออพยพเข้ามาแล้ว ได้มาสถาปนาสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมของชาวอารยันขึ้น ในการสถาปนานั้นเป็นการสถาปนาบนการต่อสู้กันระหว่างคนสองกลุ่ม กล่าวคือ ประเด็นเรื่อง ผู้หญิง - ผู้ชาย และประเด็นอื่นๆในสังคมวัฒนธรรมอินเดีย เป็นผลมาจากการต่อสู้ในทางวัฒนธรรมความเชื่อ นั่นคือ ตามประวัติพวกอารยันนั้นเป็นพวกที่นับถือเทพเจ้าซึ่งเป็นผู้ชาย ซึ่งอยู่บนฟ้าหรือบนสวรรค์ เพราะคนพวกนี้เป็นพวกที่อพยพเร่ร่อน พวกอารยันจึงไม่สามารถนับถือเทพเจ้าที่อยู่บนดินได้ เนื่องจากเมื่อมีการอพยพจากผืนแผ่นดินเดิมไปแล้ว เขาจะทิ้งเทพเจ้าของเขาเอาไว้เบื้องหลัง แต่ถ้าเทพเจ้าอยู่บนฟ้า จะตามเขาไปได้เรื่อยๆ เช่นดวงอาทิตย์ดวงดาวต่างๆ ในขณะที่พวกทราวิฑนั้นนับถือพระแม่เจ้า ที่อยู่บนผืนแผ่นดิน

เพราะฉะนั้นเวลาที่พวกอารยันเข้ามาสู่แผ่นดินอินเดีย จึงมีการต่อสู้กันระหว่างคนสองกลุ่ม และคนสองกลุ่มนี้ถ้าเราจะวินิจฉัยจากรูปเคารพและลัทธิความเชื่อ ก็น่าจะสันนิษฐานได้ว่า พวกอารยันนั้นยกย่องผู้ชายให้เป็นผู้นำหรือเทพเจ้าที่เป็นบุรุษเพศ เช่นนับถือพระอาทิตย์ พระอาทิตย์ก็เป็นผู้ชาย ในขณะที่พวกทราวิฑนับถือพระแม่เจ้า เช่นกรณีพระแม่คงคา ซึ่งเป็นพระแม่เจ้าประจำแม่น้ำ พระแม่ธรณี ซึ่งเป็นแม่เจ้าประจำพื้นแผ่นดิน

กรณีที่ทราวิฑนับถือเช่นนี้ก็มีข้อสันนิษฐานตามมาว่า ชนทราวิฑนั้น ผู้หญิงมีอำนาจเหนือกว่าผู้ชาย เมื่อคนสองกลุ่มนี้มาอยู่ด้วยกันจึงมีการปะทะกันทางวัฒนธรรม ซึ่งภายหลังพวกอารยันได้มีชัยเหนือพวกทราวิฑ ก็พยายามที่จะทำให้เห็นว่าพวกผู้หญิงเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ เทพเจ้าผู้หญิงต่อมาจึงถูกลดทอนมาเป็นเพียงแค่ศักติของเทพเจ้าผู้ชายเท่านั้น ความขัดแย้งของคนทั้งสองกลุ่มนี้ก่อให้เกิดผลผลิตทางวัฒนธรรมใหม่ ซึ่งมีการรังเกียจไม่เฉพาะในเรื่องของผู้หญิงกับผู้ชายเท่านั้น เช่นการรังเกียจผิว พวกอารยันซึ่งเป็นคนผิวขาวก็รังเกียจพวกทราวิฑซึ่งเป็นคนผิวดำ จึงทำให้เกิดระบบวรรณะที่ทำให้คนเกิดมาแล้วไม่เสมอภาคกัน มีการรังเกียจวิถีชีวิตไปด้วย ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการยืนยันให้เห็นถึงผลผลิตทางด้านวัฒนธรรม ซึ่งพวกอารยันมีชัยเหนือพวกทราวิฑ

กรณีเรื่องผู้หญิงก็เป็นกรณีหนึ่งซึ่งเป็นผลติดตามมาของการที่พวกอารยันแสดงความเชื่อในเชิงข่ม ให้เหนือกว่าความเชื่อของพวกทราวิฑที่เคยยกย่องผู้หญิง อารยันจึงกีดกันพวกผู้หญิงไม่ให้เข้ามาสู่แวดวงศาสนา ชาวอารยันนับถือเทพเจ้าหลายองค์ เช่น พระอินทร์ พระพรหม พระยม ฯลฯ ซึ่งแต่ละองค์ล้วนมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆกัน มนุษย์จำต้องพึ่งพิงเทพเจ้าเหล่านี้เพื่อประโยชน์สุขและความอยู่รอดของตน สิ่งที่น่าสังเกตเทพเจ้าต่างๆล้วนแต่เป็นเพศชายเป็นส่วนใหญ่....

สมัยยุคคริสตจักร ผู้หญิงก็เคยได้ถูกข่มเหงเช่นกัน และเป็นการข่มเหงที่รุนแรงเสียด้วย ด้วยการโฆษณาชวนเชื่อให้เห็นว่าสตรีผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายคือปีศาจและได้กำจัดเทพีออกไปจากศาสนายุคใหม่ไปตลอดกาล การล้างสมองในยุคนั้นนั้นได้กินเวลายาวนานกว่าถึงสามศตวรรษ เป็นช่วงที่มีคำว่า “แม่มดเกิดขึ้น” การโฆษณาชวนเชื่อที่ให้ลดคุณค่าของสตรีลง การทำลายแม่มด สั่งสอนให้โลกรู้ถึงอันตรายของสตรีนอกรีต แม่มดในทัศนะของยุคสมัยนั้นมักจะร่วมถึง สตรีผู้ที่ทรงมีความรู้ต่างๆ นักบวชหญิง หมอตำแย พวกยิปซี หญิงผู้รักธรรมชาติ ฯลฯ กล่าวคือหญิงใดก็ตามที่ กลมกลืนกับโลกธรรมชาติอย่างน่าสงสัยจะถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มด จะถูกเผ่าและทำลายโดยสิ้น ยุคของเทพีจบสิ้นลงแล้ว เป็นยุคที่สังคมรังเกียจผู้หญิงมากเกินไป ครั้งหนึ่งเคยได้รับเกียรติ์ให้มีบทบาทสำคัญในฐานะส่วนประกอบครึ่งหนึ่งที่ทำให้บังเกิดความรู้แจ้งทางจิตวิญาณได้ถูกกำจัดให้พ้นไปเสียแล้ว นั้นมันเพียงเป็นประวัติศาสตร์ที่เราสามารถเรียนรู้ได้ แต่มาจนถึง....

ในยุคปัจจุบัน นี้อีกเช่นกัน… ผู้หญิงก็ยัง ถูกคุกคามอยู่ในทางอ้อม... กล่าวได้คือ ถึงปัจจุบันนี้ก็ตามทีเถอะ ที่ผู้หญิงได้ถูกยกระดับขึ้นมาเท่าเทียมกับผู้ชายแล้วก็ตามถึงกับมีองค์กรสิทธิสตรีหญิงเกิดขึ้นหลายองค์กร และความเสมอภาคเท่าเทียมกันระหว่างหญิงกับชาย แต่ในอีกมิติหนึ่งที่มนุษย์มองไม่เห็นว่า ผู้หญิงได้ถูกใช้เป็นสื่อต่างๆในระบบของสังคมมนุษย์ด้วยกันเองในปัจจุบันนี้โดยไม่รู้ตัว ไม่ต้องไปไหนไกล... อยู่รอบๆตัวเรานี่เอง เพียงคุณอยู่ที่บ้านกดปุ่มทีวีคุณก็จะเจอกับสื่อต่างๆ ที่ใช้ผู้หญิงหลอกล่ออย่างแยบยล เป็นเครื่องมือระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง แม้แต่ผู้หญิงเองก็ตาม ก็ยังหลงเข้าไปในค่านิยมนี้โดยไม่รู้ตัว (ซึ่งเป็นยุคของบริโภคนิยม จะกล่าวถึงในบทหลังๆต่อไป) ดังจะเห็นได้จากภาพนู้ดต่างๆเ ป็นต้นหรือภาพโป๊เปลือยนั้น ยังเป็นเรื่องที่ยังคงถูกถกเถียงกันอยู่ถึงการให้ความหมายต่อภาพนู้ด ที่บางกลุ่มให้ความหมายไปในเชิงศิลปะ อันได้แก่ พวกช่างภาพ ทีมงานผู้ผลิต ไปจนถึงตัวนางแบบเอง คนกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งมักประกาศเจตนารมณ์ของการผลิตภาพนู้ดออกมาอย่างชัดเจนว่ากระทำไปเพื่อศิลปะ ในขณะที่บางกลุ่มกลับมองภาพนู้ดไปในแง่ของความลามกอนาจาร ที่ต้องการยั่วยุกามารมณ์ของผู้เสพสื่อ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย) หรือเป็นการทำให้ผู้หญิงมีสภาพเป็นวัตถุแห่งการจ้องดูในเชิงเพศ “อุตสาหกรรมภาพนู้ด” โดยใช้เรือนร่างของผู้หญิง และความเป็นเพศหญิงเป็นเครื่องมือในการตอบสนองอรรถรสทางเพศของผู้บริโภคชายเป็นหลัก โดยสิ่งต่างๆ เหล่านี้เองได้สะท้อนให้เห็นภาพของระบบชายเป็นใหญ่ อยู่เช่นกัน...

No comments:

Post a Comment