Tuesday, August 7, 2007

ศาสนากับธรรมชาตินิยม

“ธรรมชาตินิยม” (Naturalism) เป็นแนวคิดทางปรัชญาที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง ภายหลังจากการค้นพบทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ ๓ ทฤษฎี กล่าวคือ ทฤษฎี “วิวัฒนาการ” (Evolution Theory) ของชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) และทฤษฎี “ควอนตั้มฟิสิกส์” (Quantum Physics) ของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) และทฤษฎี “การระเบิดครั้งยิ่งใหญ่” (Big Bang Theory) ของเอ็ดวิน ฮับเบิ้ล (Edwin Hubbles) นับเป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ครั้งสำคัญทั้งในโลกของปรัชญาและวิทยาศาสตร์
ปรัชญาธรรมชาตินิยม ตั้งต้นจากทรรศนะที่ว่า สิ่งที่เป็นจริงซึ่งเรียกว่า สิ่งธรรมชาติ (Natural Object) จะต้องอยู่ภายใต้อวกาศและเวลา (Space and Time) เกิดขึ้นและดับลงโดยมีสาเหตุ และสาเหตุนั้นจะต้องเป็นสิ่งธรรมชาติด้วย หมายความว่า นอกจากสสารแล้ว สิ่งที่มิใช่สสาร เช่น ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “จิต” (Mind) ของมนุษย์ หากอยู่ภายใต้ระบบอวกาศและเวลาแล้ว ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นจริงด้วย นับเป็นการทลายข้อจำกัดของปรัชญา “สสารนิยม” (Materialism) ซึ่งยอมรับแต่เพียง สสาร (Matter) ที่สัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เท่านั้น ชีวิตจึงได้แก่ปฏิกิริยาพิเศษโดยเฉพาะของสิ่งที่มีโครงสร้างอันซับซ้อน สสารเองก็ยังเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันอย่างมีระเบียบของ โปรตอน และ อีเล็กตรอน ซึ่งมีระดับต่ำกว่าสสาร เมื่อวิวัฒนาการสูงขึ้นๆ อย่างมากแล้ว มนัสจึงเริ่มแสดงบทบาทออกเป็นขั้นอุดการณ์ของสิ่งที่มีชีวิตที่ความซับซ้อนมากๆ เราอาจจะกล่าวได้ว่า ธรรมชาติไต่เต้าขึ้นหาชีวิตและมนัสโดยการจัดระเบียบในสสาร


ตามทฤษฎี “วิวัฒนาการ” (ชาร์ลส์ ดาร์วิน) หลังจากโลกได้เย็นตัวลงแล้ว ปฏิกิริยาทางเคมีบนผิวโลกทำให้เกิดไอน้ำ ไอน้ำที่ลอยขึ้นสูงถูกแรงดึงดูดของโลกดูดไว้ ก่อให้เกิดชั้นบรรยากาศและเมฆขึ้น ในที่สุดเมฆก็ตกลงมาเป็นฝน ทำให้เกิดลำคลอง แม่น้ำ ทะเล และมหาสมุทร เมื่ออนินทรียสาร (non-organic matter) ทำปฏิกิริยากับน้ำปริมาณมหาศาลในเวลาที่ยาวนานเพียงพอ สิ่งมหัศจรรย์ คือ อินทรียสาร (organic matter) หรือ “ชีวิต” (Life) ก็ได้บังเกิดขึ้น จากโครงสร้างที่เรียบง่าย เช่น สัตว์เซลล์เดียว ชีวิตได้วิวัฒนาการสู่ความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยแยกเป็นทั้งอาณาจักรพืชและอาณาจักรสัตว์ ในอาณาจักรสัตว์ชีวิตได้วิวัฒนาการจากหนอนทะเล มาเป็นปลา สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์บก กระทั่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในที่สุด เมื่อชีวิตมีวิวัฒนาการที่ยาวนานเพียงพอ สิ่งอัศจรรย์ยิ่งกว่านั้นคือ “จิต” (Mind) ก็เกิดขึ้น นักชีววิทยาสังเกตว่า รูปแบบของชีวิตนับตั้งแต่ปลาเป็นต้นมาล้วนแต่มีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “จิต” เกิดขึ้นแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นปลาโลมาที่สามารถฝึกได้ สุนัขที่ซื่อสัตย์ต่อเจ้าของ ลิงที่เริ่มเรียนรู้การใช้เครื่องมือ และที่สำคัญที่สุดก็คือ “มนุษย์” จิตของมนุษย์จึงเป็นสุดยอดของวิวัฒนาการของจักรวาลนี้ จากการคำนวณของนักธรณีวิทยา โลกมีอายุประมาณ ๕,๐๐๐ ล้านปี สิ่งมีชีวิตมีอยู่ในโลกนี้ประมาณ ๕๐๐ ล้านปี และมนุษย์เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ ๒ ล้านปีมานี้เอง ทฤษฎี “วิวัฒนาการแบบก้าวกระโดด” (Emergent Evolution) บ่งบอกว่า เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านปริมาณมาถึงจุดหนึ่ง จะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพขึ้นอย่างฉับพลัน และในวิวัฒนาการของจักรวาลและโลก ได้เกิดวิวัฒนาการแบบก้าวกระโดดขึ้นอย่างน้อยที่สุด ๔ ครั้งใหญ่ๆ คือ การเกิดขึ้นของ มวลสาร น้ำ ชีวิต และจิตใจ พุทธศาสนาเห็นพ้องกับปรัชญาธรรมชาตินิยม ที่ว่า จิตใจของมนุษย์มีอยู่ แต่มิใช่ “สิ่ง” (Object) แต่เป็น “ปรากฏการณ์” (Phenomenon) ที่ไม่เป็นตัวไม่เป็นตน เป็น “อนัตตา” (non-self) ร่างกายที่จับต้องได้เห็นได้ กับจิตใจที่จับต้องไม่ได้เห็นไม่ได้ จึงเป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน และอิงอาศัยกันอย่างแยกไม่ออก

ตามทฤษฎี “ควอนตั้มฟิสิกส์” (อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์) หน่วยที่เล็กที่สุดที่เรียกว่า “อะตอม” (Atom) นั้นมิใช่สิ่งที่แข็งตันและหยุดนิ่งอยู่กับที่ ดังคำอธิบายของ “ฟิสิกส์แบบนิวตัน” (Newtonian Physics) แต่กลับประกอบด้วยโปรตอน นิวตรอน อิเล็กตรอน และช่องว่างมหาศาลระหว่างประจุไฟฟ้าเหล่านั้น และอิเล็กตรอนก็วิ่งรอบนิวตรอนด้วยความเร็วสูง ทุกสิ่งจึงเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่มีสิ่งใดหยุดนิ่งอยู่กับที่ สรรพสิ่งจึงเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงด้วยตัวของมันเองได้ ไม่จำเป็นต้องเกิดจากแรงผลักจากภายนอกแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น และเป็นไปอย่างสะเปสะปะไม่แน่นอน เราจะต้องแปลกใจที่มันไม่อยู่ตรงที่คำนวณเอาไว้ แต่พบว่ามันกระโดดไปตามเรื่องตามราวอย่างพิสดารไร้ทิศทาง เรื่องนี้ทำให้มึนงงไปตามๆกันกับนักวิทยาศาสตร์ เหมือนกับว่ารากฐานของวิทยาศาสตร์พังทลายเสียแล้ว เพราะรากฐานทางวิทยาศาสตร์กล่าวว่า เหตุการณ์ในธรรมชาติถูกกำหนดขึ้นอย่างแน่นอนตายตัว กล่าวคือ ปัจจุบันเป็นผลของอดีตอย่างเคร่งครัด การค้นคว้าใหม่นี้ ยังให้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ เน้นหนักมากขึ้นในเรื่องลักษณะสถิติของกฎในธรรมชาติ เราอาจจะไม่รู้ว่าอิเล็กตรอนแต่ละตัวจะมีพฤติกรรมอย่างไร แต่เราสามารถ กำหนดสถิติขึ้นอย่างเชื่อถือได้ จึงเป็นอันว่าแม้ในโลกน้อยๆที่เราอาศัยอยู่นี้ พื้นฐานของวิทยาศาสตร์ก็หาได้คลอนแคลนไปแต่อย่างใดไม่ กฎในธรรมชาติส่วนมากเป็นกฎตามสถิติ นั้นก็เท่ากับยืนยันพฤติกรรมรายเฉลี่ยของสังคมศาสตร์ได้ว่า อัตวินิบาตกรรม จะเกิดขึ้นประมาณสักกี่รายในกลุ่มชนสังคมหนึ่ง ในชั่วระยะเวลาหนึ่ง แม้ว่าจะเอาแน่เอานอนเป็นรายคนไปไม่ได้ว่าคนไหนบ้างจะทำอัตวินิบาตกรรม หรืออีกตัวอย่างหนึ่งได้ว่า พฤติกรรมของแต่ละคนเราไม่สามารถที่จะคาดเดาได้ว่าเป็นอย่างไร แต่ถ้าเรามองภาพรวมใหญ่และตามสถิติแล้ว เราก็อาจจะคาดการณ์ในอนาคตได้บ้างของสังคมนั้นๆไป พูดกว้างๆแล้วหลักการใหม่นี้ดูเหมือนจะถือว่า หน่วยเฉพาะแต่ละหน่วยมีเสรีภาพในการกระทำของตัวเอง มากกว่าที่รู้มาแต่เดิมเสียอีก

ตามทฤษฎี “การระเบิดครั้งยิ่งใหญ่” (เอ็ดวิน ฮับเบิ้ล) ต้นกำเนิดของจักรวาลเกิดจากการระเบิดครั้งใหญ่ (Big Bang) เมื่อประมาณ ๑๕,๐๐๐ ล้านปีที่แล้ว อันก่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่กลายเป็น “มวลสาร” (Matter) ปริมาณมหาศาล แรงระเบิดได้ก่อให้เกิด ช่องว่าง หรือ อวกาศ (Space) ขึ้น มวลสาร อวกาศ และความเร็ว ได้ก่อให้เกิด เวลา (Time) ขึ้น จักรวาลได้ขยายตัวออกกลายเป็น กาแล็กซี่ (Galaxy) ซึ่งมีจำนวนกว่า หนึ่งล้านล้านกาแล็กซี่ แต่ละกาแล็กซี่ประกอบด้วยดาวฤกษ์ (เช่น ดวงอาทิตย์) จำนวนกว่า หนึ่งล้านล้านดวง สุริยะระบบ (Solar System) ของเราอยู่ชายขอบ กาแล็กซี่ทางช้างเผือก (Milky Way Galaxy) ซึ่งอยู่ชายขอบของจักรวาลใหญ่อีกทีหนึ่ง เราจึงมิได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล ไม่ว่าในความหมายใดก็ตามที (ที่มา : ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชามนุษย์ศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล)

ทรรศนะทั้งสามนี้ นับเป็นการทลายข้อจำกัดของปรัชญา “สสารนิยม” ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของฟิสิกส์แบบนิวตัน ซึ่งมองว่าสรรพสิ่งอยู่ภายใต้ระบบจักรกล (Mechanism) จะเคลื่อนไหวก็ต่อเมื่อมีแรงผลักจากภายนอกเท่านั้น (Determinism) และทุกสิ่งสามารถทอนลงเป็นหน่วยย่อยได้ (Reductionism) “สสารนิยม” จึงปฏิเสธการมีอยู่ของ “จิต” ว่าเป็นเพียงปฏิกิริยาทางชีวเคมีของร่างกายเท่านั้น ไม่สู้จะมีใครพยายามกำหนดให้รัดกุมมากขึ้นไปอีกว่า ตัวการปลุกเร้าให้เกิดวิวัฒนาการดังที่กล่าวมานี้ มีธรรมชาติเป็นอย่างไรกันแน่ เท่าที่กำหนดกันไว้เพียงรางๆ ก็ว่าเป็นพลังงานควบคุมภายใน เป็นพลังงานควบคุมและประสานงานดั้งเดิม แน่นอนถ้าจะบอกว่าเป็นตัว “จิต” เสียคำเดียวก็จะง่ายแสนง่าย ที่จะง่ายก็เพราะสามารถเทียบดูได้กับตัวเราเอง จิตเป็นตัวการกระตุ้นให้ทำการทุกอย่างในตัวเรา เพราะฉะนั้น ในธรรมชาติก็น่าจะเหมือนกัน

ดังจะเห็นได้ว่า คำว่า ธรรมชาตินิยม ก็ไม่ต่างกันกับที่มีความหมายคล้ายกับสสารนิยมนัก ที่เชื่อในเรื่องของ สสาร อะตอม แต่ถ้าจะให้เราเชื่อในเรื่องของสสารนิยม ก็จะดูตื้นเกินไป อาจจะเป็นเพราะว่ามาจากความหมายที่ไม่แน่นอนของสสารนิยม และความเข้าใจของเราที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอด ธรรมชาตินิยมจึงเสนอใช้คำอื่นแทน คือ พลัง การเคลื่อน กฎธรรมชาติ และการมีเหตุผล เป็นต้น เป็นตัวกำหนด ซึ่งสิ่งที่อธิบายสรรพสิ่งต่างๆนี้ เพียงพอสำหรับการอธิบายโลกเราแล้ว อาจจะต่างกันอยู่บ้างก็เพียงแต่ธรรมชาตินิยมนี้จะเน้นความสำคัญของสสารนิยมน้อยกว่า และหันมาเน้นความสำคัญของพลังงานแทน จะเห็นได้ว่าธรรมชาตินิยมก็คือ การเอาเรื่องของ สสารนิยม กับ จิตนิยม เข้ามาไว้ด้วยกันอย่างดี

ทฤษฎีสัมพัทธภาพ พลิกเนื้อหาวิชาฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์ทั้งหมด ทฤษฎีนี้ครอบงำกฎสำคัญๆ ทั้งหลายซึ่งมีสูตรกะทัดรัดตายตัว และนำไปประยุกต์ได้ตรงเป้าหมาย จนทำให้วิชาฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์เชิดหน้าชูตาได้บนเวทีแห่งความรู้ของมนุษย์อยู่ทุกวันนี้ กระนั้นก็ดี ครั้นหันมาพูดถึงธรรมชาตินิยมของสรรพสิ่งต่างๆ วิชาฟิสิกส์ทางด้านวิทยาศาสตร์ทั้งหมดก็เหมือนเปลือกหอยที่ว่างเปล่า มีสภาพเป็นเพียงสัญลักษณ์เท่านั้น เป็นความรู้เพียงโครงเรื่องยังไม่มีเนื้อหา แต่ทว่าทั่วไปในโลกฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์เนื้อหาก็ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร แน่นอนทีเดียวว่าจะต้องเป็นเนื้อเดียวกันกับความสำนึกของคนเรา นี่เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า มีบางอย่างที่อยู่ลึกในโลกแห่งฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์ที่ไม่สามารถรู้และเข้าใจได้ด้วยวิธีการทางฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์ ยิ่งกว่านั้น เราได้พบว่า แม้วิทยาศาสตร์จะก้าวหน้าไปไกลสักแค่ไหนก็ตามที จิตจะได้รับคืนจากธรรมชาติก็เฉพาะสิ่งที่จิตได้ใส่ลงไว้ในธรรมชาติเท่านั้น มีบทกวีเคยกล่าวไว้ว่า...(A.S. Eddington / On the Nature of Things)

“เราได้พบรอยเท้าประหลาดบนชายหาดที่ยังไม่เคยรู้จัก...”
“เราได้คิดหาทฤษฎีลึกซึ้งทฤษฎีแล้วทฤษฎีเล่า เพื่อเดาหาที่มาของมัน...”
“ในที่สุด...”
“เราก็ปะติดปะต่อร่างของเจ้าของรอยเท้านั้นจนได้...”
“และน่าประหลาดใจน้อยอยู่หรือที่ว่า...”
“ที่แท้เป็นรอยเท้าตัวเรานี้เองแหละ...”

ในที่สุด เราจะสรุปอย่างไรกันดี สำหรับแก้ปัญหากำเนิด และธรรมชาติสรรพสิ่งชีวิต ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เพราะถ้าเราพบกุญแจไขความลึกลับเกี่ยวกับกำเนิดและธรรมชาติของเซลล์มีชีวิตเซลล์แรกได้เมื่อไร เราก็คงได้กุญแจไขความลับของโครงการยิ่งใหญ่แห่งวิวัฒนาการเช่นกัน และวิวัฒนาการนี้เองที่มาสูงเด่นสุดยอดกับชีวิตมนุษย์ กับความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ และกับประวัติศาสตร์ของมนุษย์เราด้วย เราได้เห็นแล้วว่าทฤษฎีที่กล่าวมาข้างต้นนี้ หามิได้ให้คำตอบและอธิบาย อย่างที่น่าพึงพอใจแก่เราไม่ ทั้งนี้ก็เพราะเราสังเกตเห็นอยู่ว่า ไม่มีเส้นแบ่งเด็ดขาดระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งไร้ชีวิต และก็ดูเหมือนกับว่า ในห้วงลึกของธรรมชาติจะมีตัวการอะไรแฝงอยู่สักอย่าง มีลักษณะเป็น อิทธิพลสร้างสรรค์ดิ้นรนเพื่อให้ได้มาเพื่ออิสรภาพ เป็นการผลักดันและปรับปรุงตัวให้เกิดระเบียบ ให้เกิดความสัมพันธ์ขึ้นอย่างหนึ่ง ซึ่งยังหาคำเหมาะๆใช้ไม่ได้ ความสัมพันธ์หรือการรวมกลุ่มกันใหม่นี้ ทำให้เกิดคุณลักษณะคุณค่าใหม่ๆ แห่งวิวัฒนาการ จึงได้ชื่อว่าสร้างสรรค์อย่างแท้จริง
เราคงจะพอกล่าวได้ว่า ธรรมชาติในส่วนรวมทั้งหมดเป็นกระบวนการสร้างสรรค์สืบเนื่องกันเป็นลูกโซ่ ระยะที่สำคัญๆ ได้แก่ชีวิต มนัส ความสำนึก สังคม ประวัติศาสตร์ ศิลปะ วรรณคดี วรรณกรรม วิทยาศาสตร์ ปรัชญา และศาสนา ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเกี่ยวข้องกับ “มนุษย์เรา” โดยแท้ ที่จะกล่าวต่อไป

มนุษย์จึงไม่แตกต่างไปจากหุ่นยนต์ นับเป็นข้อจำกัดของปรัชญา “สสารนิยม” ที่นำเอาระบบกลไกทางฟิสิกส์มาใช้อธิบายเรื่องของชีวิตซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ละเอียดอ่อนทางชีววิทยา การเกิดขึ้นของปรัชญา “ธรรมชาตินิยม” จึงทำให้ความรู้ทางปรัชญาและวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ มาประสานสอดคล้องเข้ากับความคิดทางพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งทฤษฎี “อนิจจัง” และ “อนัตตา” อย่างน่าอัศจรรย์

No comments:

Post a Comment