Tuesday, August 7, 2007

เข้าถึงความคิดนิพพานเข้าถึงบิ๊กแบงภายในใจ (จบ)


เมื่อมาถึงบทสุดท้าย หวังว่าผู้อ่านสามารถเข้าใจสู่ถึง “บิ๊กแบงภายในใจ” ของตัวเองได้ มิฉะนั้น อย่างน้อยก็คงจะเปิดโลกทัศน์ของผู้อ่านได้บ้างไม่มากก็น้อย เราจะมองปัญหาต่างๆในอีกมิติหนึ่งได้ และผู้อ่านจะมีสายตามองโลกที่ต่างออกไป ปัญหาต่างๆที่ซึ่งเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางสังคม ปัญหาทางเศรษฐกิจ ถึงแม้จะไปจนถึงปัญหาสงครามโลกก็ตามที จะเป็นเพรียงแค่ปัญหาใน “กำมือคุณเท่านั้น” ทั้งนี้จะเป็นสิ่งที่คุณจะรู้ได้ตามจริงเองเมื่อเข้าถึง บิ๊กแบงภายในใจ ผมขอยกตัวอย่าง เช่น ปัญหาสงครามโลกถ้ามันมีเกิดขึ้นมา จะเป็นปัญหาที่มีผลกระทบไปเป็นลูกโซ่ได้กล่าวคือ จะเกิดปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ปัญหาทางด้านสังคม ปัญหาทางด้านมนุษย์ธรรม ตามมา เพราะอะไร กล่าวคือ

ถ้าชาวโลกยังบูชาลัทธิวัตถุนิยม มัวแสวงแต่ความสำราญทางกายอย่างเดียวอยู่เพียงใด ก็ไม่มีหวังในสันติภาพได้ นักวัตถุนิยมเห็นกายเป็นใหญ่ ย่อมเสียสละได้ทุกอย่างเพื่อให้กายหรือโลกของตนได้มา ส่วนนักจิตนิยม เห็นแก่จิตเป็นใหญ่ ย่อมเสียสละได้ทุกอย่างเหมือนกัน เพื่อแลกเอาความสงบเยือกเย็นของจิต ผู้แสวงความสำราญทางกายนั้น การแสวงของเขาจำเป็นอยู่เองที่จะต้องกระทบกับผู้อื่น เพราะความสำราญกายนี้เป็นของเกี่ยวเนื่องด้วยกับผู้อื่น หรือสิ่งแวดล้อมอยู่โดยรอบ ท่าน พุทธทาสภิกขุ เคยกล่าวไว้ว่า เมื่อความเห็นแก่ตัวมีอยู่ ก็ต้องมีการกระทบกันเป็นธรรมดา การสงครามก็คือ การปะทะหรือกระทบกันของคนหลายคน ที่ต่างฝ่ายต่างมีความเห็นแก่ตัว เพื่อความสำราญทางกาย หรือ อุปทานต่างๆของความต้องการ (ประเทศนั้นๆ) นั่นเอง “สงครามโลก” ซึ่งเป็นเพียงความเห็นแก่ตัวของคนหลายชาติรวมกันก็ไม่ต่างอะไรกันอีก ส่วนการแสวงหาความสุขทางฝ่ายจิตนั้น จะไม่กระทบกระทั่งใครเลยแม้แต่น้อย เพราะเหตุว่า มีอะไรๆให้แสวงอยู่ในตนผู้เดียว ไม่ต้องเกี่ยวเนื่องด้วยกับผู้อื่น การสงครามไม่สามารถเกิดจากผู้แสวงสุขทางจิตได้เช่นเดียวกันกับที่ “ไฟไม่สามารถเกิดจาก ความเย็นได้เช่นกัน”

แต่ก็อย่างที่ผมกล่าวมานั้น มันจะเป็นปัญหาเพียงแค่กำมือคุณเท่านั้นเอง ผู้อ่านบางท่านอาจจะเกิดการโต้แย้งหรือสงสัยได้ว่าปัญหาสงครามโลกมันจะเป็นเพียงแค่ปัญหาเล็กๆได้ไง มันมีผมกระทบถึงระดับประเทศ ระดับชาติ ระดับโลกเชียวน่ะ ผมขอบอกได้ว่าผู้อ่านสามารถศึกษาได้จากประวัติศาสตร์ย้อนหลังไปได้เป็นพันๆปี แล้วจะพบว่าปัญหาลักษณ์นี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตกาล บางเหตุการณ์ปัญหายิ่งใหญ่กว่าสงครามโลกที่เคยเกิดขึ้นมาในช่วงยุคประวัติศาสตร์จากปัจจุบันเราเสียอีก การล่าอาณานิคมเมื่อพันๆปีก่อน การสูญสลายของเผ่าพันธุ์มนุษย์บางเผ่าพันธุ์ อาณาจักรบางอนาจักรที่เคยยิ่งใหญ่และรุ่งเรืองมาแต่อดีตกาล ก็ยังสูญสลายไป เช่น จักรวรรดิโรมัน จักรวรรดิอียิปต์ จักรวรรดิขอม แม้แต่ทางด้านศาสนาก็เคยมีการเกิดและสูญสลายไปได้ อย่างเช่นศาสนาพุทธที่เคยเกิดขึ้นและรุ่งเรืองในอินเดียอดีตกาล ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของศาสนาพุทธโดยแท้ก็ยังสูญสลายไปจากอินเดียได้ และอย่างจักรวรรดิขอมที่เคยรุ่งเรืองที่สุดอยู่ในแถบเอเชียเฉียงใต้ก็สูญสลายไป (เมื่อสมัยยุคนั้นยังไม่เคยมีคำว่าเอเชียหรือแม้แต่คำว่าประเทศไทยเรามีแต่อาณาจักรขอม) ขอยกตัวอย่างอีกจักรวรรดิหนึ่งคือ จักรวรรดิมองโกเลียหรือเรียกอีกอย่างว่า จักรวรรดิแห่งข่าน ซึ่งเคยรุ่งเรืองอยู่ในยุคหนึ่งเช่นกันที่กินพื้นที่แถบจีนไปจนถึงอินเดียตอนเหนือจนถึงแทบยุโรป ก็ยังสูญสลายไปได้ และยังมีอีกหลายอาณาจักรอีกมากมายที่เกิดและดับศูนย์ไป ทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมานี้ ก็เหลือแต่หลักฐานทางซากปรักหักพังแห่งโบราณวัตถุให้เราได้ศึกษา ได้ย้อนหลังไปเป็นพันๆปีเท่านั้น

แล้วสิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่คืออะไรเล่า ก็ขอบอกได้เพียงว่า “จิต” (Mind) หรือใจเรานี่แหละ จิตในตัวเราทุกคนนี้ จิตที่ตั้งไว้ผิดย่อมนำมาซึ่งอันตรายซึ่งร้ายยิ่งกว่าอันตรายที่ศัตรูใจอำมหิตจะพึงกระทำให้ จิตที่ตั้งไว้ถูกจะนำมาซึ่งประโยชน์มากกว่าคนที่หวังดีที่สุด ทั้งนี้เป็นการชี้ให้เห็นโทษของการที่ตั้งจิตไว้ผิด แต่สิ่งที่มนุษย์ในโลกกำลังกลัวกันนั้นหาใช่จิตที่ตั้งไว้ผิดไม่ เพราะเขายังไม่รู้จักสิ่งๆนี้ จึงไปสนใจกลัวสิ่งซึ่งไม่น่ากลัวเท่าสิ่งๆนี้ เช่นกลัวลัทธิการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามบ้าง กลัวสงครามหรือการอดอยาก กลัวเศรษฐกิจจะตกต่ำ กลัวผีสางกลัวเทวดา กลัวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ กลัวกันจนถึงกับหมดความสุข หรือกลายเป็นความทุกข์ไป

ทุกข์ภัยทั้งหมดของโลกมาจากจิตที่ตั้งไว้ผิดนี่เอง คือจิตที่ตั้งไว้ผิดก็ทำให้สิทธิที่ไม่พึงปรารถนาขึ้น ทำให้เกิดการอดอยาก การเบียดเบียน และการสงคราม ฯลฯ เมื่อสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นแล้ว ชาวโลกก็หาได้สนใจไม่ว่ามันเกิดขึ้นจากอะไรกันแน่จึงจัดการแก้ไขไปอย่างผิดๆ กระทำไปด้วยความกลัวเพราะไม่มีจิตที่ดี ซึ่งสามารถขจัดความกลัวออกไปเป็นอย่างดี (แม้ลำพังความกลัวล้วนๆ ก็ถือว่าเป็นจิตที่ตั้งไว้ผิดเหมือนกัน) เพราะฉะนั้น เราจะเห็นได้ว่าจิตที่ตั้งไว้ผิดอยู่เป็นตอนๆ ต่อเนื่องกันไปหลายระดับ เมื่อไม่มีการตั้งจิตใจไว้ในลักษณะที่ถูกต้องเลย สิ่งที่เรียกว่า ความเห็นแก่ตัว ความเห็นว่ามีตัวมีตนจึงเต็มไปหมด แม้กระนั้นก็ไม่มีใครเอาใจใส่ ไม่สนใจว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร จนทำให้โลกนี้ตกอยู่ในสภาพที่อยู่ใต้กะลาครอบของความคิดตัวเอง คือความมืดมนอลเวงเต็มไปด้วยปัญหายุ่งยาก ซึ่งสรุปแล้วก็คือ ความทุกข์ แล้วก็แก้ไขความทุกข์กันไปเรื่อยๆ ด้วยอาการที่รู้สึกว่าตื่นเต้นสนุกดี คือได้ลองฝีมือใช้ความรู้ใหม่ๆ แปลกๆ แม้จะแก้ไขความทุกข์ของโลกไม่ได้ ก็ยังเพลิดเพลินอยู่ด้วยความรู้หรือความสามารถใหม่ๆ สิ่งเหล่านั้นเป็นเสมือนเครื่องหลอกให้อุ่นใจ อาการเช่นนี้เองที่เป็นเครื่องปิดบังไม่ให้ไปสนใจถึงต้นเหตุอันแท้จริงของวิกฤตการณ์ทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ไม่สนใจในเรื่องของจิตที่ตั้งไว้ผิด เพื่อจะได้เข้าถึงความจริงในสรรพสิ่ง

น่าประหลาดอยู่อย่างหนึ่งก็ คือ ใครๆก็พยายามจะแสดงตนว่าเป็นผู้รู้จักตัวตนดีเพราะมีความรู้ และให้ความหมายของตัวตนกันไปเองตามชอบใจ ดูประหนึ่งว่าเขาเป็นผู้เข้าใจหรือรู้จักตัวตนดีอย่างแจ่มแจ้ง แต่แล้วก็เป็นที่น่าขบขันที่ความรู้นั้นใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้แม้แต่นิดเดียว เขาไม่เห็นอย่างถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าความทุกข์นั้นมันอะไรกันแน่ อะไรเป็นมูลเหตุที่แท้จริงของความทุกข์ สภาพที่ปราศความทุกข์จริงๆ นั้นเป็นอย่างไร และวิธีปฏิบัติอย่างไรคนเราจึงจะเข้าถึงสภาพที่ไม่มีความทุกข์ หรือ “นิพพาน” หรือ “บิ๊กแบงภายในใจ” ที่ผู้เขียนเปรียบเทียบขึ้นมาเอง

อย่างที่กล่าวมา ถ้าได้เข้าถึงบิ๊กแบงภายในใจเรา ตัวเราจะมีความรู้สึกเข้าถึงจักรวาลเช่นกัน เป็นส่วนหนึ่งเดียวกัน เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ไม่ใช่จักรวาลเป็นของเรา ธรรมชาติเป็นของเรา (ดังที่กล่าวมาแล้วในมิติความสัมพันธ์ของมนุษย์) แต่มนุษย์ก็คือส่วนหนึ่งของจักรวาล และภายในของมนุษย์เองนั้น คือ จิตรู้ ที่มีขึ้นมาเพื่อให้เรียนรู้จักสรรพสิ่งต่างๆในความเป็นจริง หรือพูดว่ามนุษย์มีขึ้นมา เพื่อให้จิตรู้มีที่ตั้งหรือเป็นฐาน เพื่อการเรียนรู้ความจริง ปรัชญา ศาสนา และวิทยาศาสตร์ จึงเกี่ยวกับนิยามของความเป็นมนุษย์อย่างแยกจากกันไม่ได้ ปริศนาอาจเป็นคำถามที่มีเป้าหมายเบื้องต้นที่ความลี้ลับของจักรวาล ความเป็นมาและจุดมุ่งหมายของการเกิดขึ้นมา และการดำรงอยู่ รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างกันของธรรมชาติและชีวิต โดยเฉพาะมนุษย์ ส่วนปรัชญาอาจเป็นคำตอบหรือความพยายามที่จะแสวงหาความจริงที่มีอยู่ เบื้องหลังคำถามธรรมชาติเหล่านั้นด้วยปัญญา เพื่อยังหาความรู้ความเข้าใจร่วมกันของมนุษย์เราต่อความจริงแท้

ดังนั้นมนุษย์ในทุกยุคสมัยจึงต้องตั้งคำถาม ต้องตั้งปริศนาขึ้นมาเพื่อหาคำตอบของความจริงให้ได้ ตรงนี้หากเราคิดให้ลงไปถึงที่สุด เราก็จะได้คำตอบ ต่อคำถามตั้งแต่บทต้นๆ สุดที่อ่านมา นั่นคือ ชีวิตคืออะไร? มนุษย์เกิดมาทำไม? หรือทำไมต้องมีมนุษย์? เพราะหากเพียงต้องการกิน ต้องการสืบพันธุ์ ต้องการต่อสู้หรือหนีภัยเอาตัวรอด ก็ไม่เห็นจำเป็นอะไรที่ต้องมีมนุษย์ขึ้นมา เป็นแค่สัตว์ธรรมดาๆ ทั่วไปก็พอแล้ว ธรรมชาติหรือจักรวาลไม่จำเป็นต้องมีวิวัฒนาการของสติปัญญาและจิตใจให้มันยุ่งยาก ไม่จำเป็นต้องสร้างระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคมและการเมือง เพราะที่สร้างขึ้นมาทั้งหมด ไม่ว่าจะวิจิตรตระการตาแค่ไหน ตีไข่ใส่สีให้ดูดีงาม ประการใดก็คือการกิน คือการสืบพันธุ์และความอยู่รอด หรือว่าคือการต่อสู้หนีภัยอันเป็นสัญชาตญาณของสัตว์ธรรมดาๆ สุดท้ายก็ต้องดับสูญไปอยู่วันยังค่ำ ดังนั้นคำตอบเพื่อตอบว่าทำไมต้องมีมนุษย์ ก็เพราะว่ามนุษย์ไม่ใช่สัตว์ธรรมดาๆ หากว่ามนุษย์จำเป็นต้องอาศัยทางผ่าน ต้องอาศัยวิวัฒนาการของสสารวัตถุรูปกายแห่งชีวิตมาตามลำดับบ้าง นั่นก็เพื่อให้โอกาส ต่อการเรียนรู้ “ธรรม” หรือความจริงแท้ของธรรมชาติในสรรพสิ่งหรือจักรวาลนั่นเอง การเรียนรู้จากคำตอบที่ได้ด้วยจิตและปัญญาต่อปริศนาคำถาม ทำให้เราต้องมีมนุษย์ขึ้นมา หรือมีตัวตนเราเกิดขึ้นมา หรือ “ชีวิต” (Life) นั่นเองเพื่อเรียนรู้

ทฤษฎีบิ๊กแบงนั้นได้รับการเชื่อมต่อด้วยทฤษฎีวิวัฒนาการ (Evolution Theory) ของชาร์ล ดาร์วิน (Charles Darwin) เมื่อโลกเย็นตัวลงนั้น ปฏิกิริยาเคมีจากมวลสารในโลกในที่สุดแล้วก่อให้เกิดไอน้ำ และไอน้ำก่อให้เกิดเมฆ และเมฆตกลงมาเป็นฝน ทำให้เกิดแม่น้ำ ลำธาร ทะเล และมหาสมุทร วิวัฒนาการนี้มีลักษณะแบบ “ก้าวกระโดด” (Emergent Evolution) เมื่อมีสารอนินทรีย์และน้ำปริมาณมหาศาลเป็นเวลาที่ยาวนาน ในที่สุดคุณภาพใหม่คือ “ชีวิต” (Life) ก็เกิดขึ้น จากโครงสร้างของเซลล์ๆเดียว ชีวิตได้วิวัฒนาการซับซ้อนยิ่งขึ้นจนเป็นอาณาจักรพืชและสัตว์ การต่อสู้กับสิ่งแวดล้อมในโลกธรรมชาติทำให้ชีวิตวิวัฒนาการแบบกาวกระโดดจากสัตว์น้ำ มาสู่สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และสัตว์เลื้อยคลานมาสู่สัตว์บก จนมาสู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในปัจจุบันนี้ เช่น ลิง มนุษย์ ทั้งหมดนี้กินเวลาหลายร้อยล้านปี ในวิวัฒนาการแบบก้าวกระโดดของชีวิตในโลกเรานี้ มีคุณภาพใหม่ที่สำคัญเกิดขึ้นอย่างน้อยที่สุดสี่ ประการ คือ มวลสาร น้ำ ชีวิต และ จิตใจ นักชีววิทยาสังเกตว่า รูปแบบของชีวิตที่ซับซ้อนนับตั้งแต่ปลาขึ้นมาล้วนมีสิ่งที่เรียกว่าจิตใจเกิดขึ้นแล้ว เช่น ปลาโลมา แมว สุนัข และลิง แต่ที่มีคุณภาพสูงสุดได้แก่ “จิตใจของมนุษย์” จิตใจจึงเป็นปรากฏการณ์ ที่เป็นผลผลิตของวิวัฒนาการของจักรวาลนี้ กล่าวคือ เป็นจิตใจที่ใฝ่หาความรู้ความเข้าใจในตัวเอง มีความอิจฉาริษยา ขณะเดียวกันก็มีความเมตตากรุณา และใฝ่หาคุณธรรม ความจริงและสัจธรรม หรือาจกล่าวได้ว่าเป็นความรู้สึกซึ้งเกิดขึ้นภายในใจเราเอง ความคิดความรู้ที่โผล่พลุ่งขึ้นมาเองในความสงบในความฝัน หรือเป็นพรสวรรค์ของบุคคลบางคน หรือเป็นเหตุการณ์เร้นลับเหนือธรรมชาติที่เกิดกับชุมชนในบางครั้ง “จิตที่เปลี่ยนสภาพไป” ในช่วงนั้น หรืออาจอธิบายว่าเป็นอภิญญา ที่เกิดจากจิตที่แน่วนิ่งอยู่กับสมาธิหรือที่จดจ่อกับงานหรือสิ่งที่กำลังเกี่ยวข้องอยู่ในขณะนั้นๆ จิตอยู่ในภวังค์เช่นนั้น ประหนึ่งไม่ใช่เป็นตัวของตัวเองแต่เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติของจักรวาล ดังเหมือนอยู่โลกใหม่หรือภพใหม่นี้เอง

พุทธศาสนาของเราจะว่าไปแล้วไม่ใช่วิทยาศาสตร์ จึงไม่กล่าวถึงเรื่องของ รูปมากนัก ที่วิทยาศาสตร์เน้นที่รูปเป็นสำคัญ หากแต่ว่าพุทธศาสนานั้น จะมุ่งเน้นในเรื่องของจิตเป็นพิเศษในการกล่าวนี้ก็จะอ้างถึงเหตุของจิตว่าเป็นอย่างไรเพื่อทำการแก้ไขจิตให้เป็นอย่างดีและมีศิลธรรมนั้นเอง จะว่าไปแล้วนั้นพุทธศาสนานั้นถือได้ว่าเป็นจริยศาสตร์ และเป็นจริยศาสตร์อย่างบริสุทธ์โดยไม่เกี่ยวกับการอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ซึ่งต่างกับบางศาสนาที่ได้เอาจริยศาสตร์ไปปะปนกับความภักดีต่อพระเจ้า ส่วนความติดข้องเกี่ยวในเทพเจ้านี้ไม่มีในพุทธศาสนาเรา โดยมีคำสอนในเรื่องที่ว่า “พระพุทธเจ้าในฐานะที่เป็นปฐมาจารย์ของพุทธศาสนานั้นเป็นสิ่งที่เลิศกว่าเทพเจ้าใดๆ และมนุษย์ทุกคนคงอาจพากเพียรปฏิบัติตนจนกลายเป็นเหมือนดังพระพุทธเจ้าได้ (พระอรหันต์) พระพุทธเจ้าทรงยืนยันว่าการตรัสรู้ของพระองค์นั้นอยู่ตรงเรื่อง อริยสัจสี่ หรือสัจธรรมสี่ประการ ซึ่งเป็นคำตอบที่พระองค์จะทรงตรัสรู้ขึ้นว่าจะแก้ทุกข์ของมนุษย์เราได้อย่างไร

กล่าวคือ พระองค์ทรงยอมรับว่า ทุกข์เป็นสิ่งที่มีอยู่ (ข้อหนึ่งในอริยสัจสี่) และจะต้องแก้ไขไม่ให้มี การที่มนุษย์เราทุกคนจะกำจัดสิ่งใดนั้นเราต้องกำจัดที่เหตุของมัน พระองค์จริงมองเห็นเหตุแห่งทุกข์และก็พบว่ากิเลสตัณหาเป็นเหตุอันทำให้เกิดทุกข์ขึ้นในใจ ตรงนี้เองที่พระองค์ก็ทราบถึงสาเหตุที่ทำให้คนเราประพฤติชั่ว นั้นคือ การดิ้นรนในชีวิตเพื่อจัดหาสิ่งมาบำรุงตัณหาของตน ตัณหานี้เองพระองค์ทรงสอนว่ามีสามประการ คือ

* ความใคร่อยากได้สิ่งที่เราชอบ
* ความใคร่อยากให้สิ่งที่ชั่งเสื่อมสูญไป
* ความใคร่อยากให้ตนเองเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

ความใคร่ทั้งสามนี้เองบังคับให้คนเราดำเนินการเอารัดเอาเปรียบกัน ประกอบอาชญากรรมแล้วก็ทำความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น ผลคือ ถ้าได้สิ่งที่สมหวังมาก็อาจก่อทุกข์ให้แก่ผู้อื่น ถ้าไม่ได้มาก็เป็นทุกข์แก่ตัวเอง เหตุแห่งทุกข์นี้ในอริยสัจสี่จัดเป็น ทุกข์สมุทัย (ข้อสองในอริยสัจสี่) ความใคร่สามประการนี้จัดว่าเป็นเรื่องส่วนตัว เมื่อดำเนินตามไปก็เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นและตัวเองจนถึงสังคมด้วย พระพุทธองค์จึงทรงเห็นว่าการแก้ความทุกข์ของมนุษย์นั้นอยู่ที่การรู้จักระงับเสียซึ่งกิเลสตัณหานี้เอง ในอริยสัจสี่นี้เรียกว่า ทุกข์นิโรธ (ข้อสามในอริยสัจสี่) และอะไรคือวิธีระงับกิเลสตัณหาที่ทำให้คนเราเกิดความทุกข์ ข้อนี้เองที่พระองค์ทรงค้นหาวิธีตั้งแต่ออกผนวชและทรงพบว่าคือการปฏิบัติชอบตามวิธีมรรคที่พระองค์ทรงคิดขึ้นมาแปดประการ ที่ในอริยสัจสี่ข้อสุดทั้งที่เรียกว่า มรรคแปด (ข้อสี่ในอริยสัจสี่)

และนี่เอง คือ จริยศาสตร์อันบริสุทธิ์โดยแท้ของพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ เพราะมันให้คำตอบแก่มนุษย์เราว่าควรจะปฏิบัติอย่างไรต่อชีวิต เมื่อมีความรู้สึกเป็นตัวตนเป็นของชีวิตเกิดขึ้นมาอย่างเต็มในรูปนี้แล้ว ก็นับได้ว่าการเกิดหรือโลกใหม่ได้ปรากฏขึ้นมาแล้ว และหลังจากนั้นเราจะรู้ความทุกข์เท่าทันตน โดยสมควรแก่กรณี คือมากบ้างน้อยบ้าง ส่วนในกรณีของผู้ที่หมดการยืดมั่นในตัวตน ท่านไม่มีความรู้สึกว่าพอใจหรือไม่พอใจ กล่าวคือไม่คิดปรุงหรือคิดต่อไปให้เป็นอารมณ์ดีหรือเป็นอารมณ์ร้ายขึ้นมาได้ ความรู้สึกว่า “ตัวเรา–ของเรา” จึงไม่มีช่องทางที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้เป็นเพราะไม่มีการรับรู้เทียมเข้ามาบันดาล มีแต่การรับรู้ที่แท้จริงอยู่ประจำ การกระทบของสัมผัส ทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ ก็เป็นแต่สักว่าการกระทบหรือผ่านเข้ามาเฉยๆ แล้วก็ดับไป พอรู้ว่าอะไรเป็นอะไรแล้วก็สิ้นสุดลง ไม่คิดปรุงแต่เป็นความรู้สึกหรือเป็นความอยากขึ้นต่อไปของตัณหา ความรู้สึกว่า “ตัวตน–ของตน” จึงไม่เกิดขึ้น เพราะกระแสแห่งการเกิดถูกตัดตอนเสียแล้วตั้งแต่ในขั้นของการกระทบทั้งหมดนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเพราะการรับรู้มีอยู่ อารมณ์จึงเกิดมีความหมายขึ้นมา จิตที่ประกอบอยู่ด้วยการับรู้ย่อมคิดปรุงต่อไปเป็นความรู้สึกที่เป็น “ตัวเรา–ของเรา”เนื่องมาจากอารมณ์นั้นๆไป อารมณ์ที่ประทับใจแรงและนาน เราเรียกเป็นอารมณ์ใหญ่อารมณ์ที่มีความประทับใจนิดหน่อย เรียกอารมณ์เล็ก ส่วนที่อยู่ในระหว่างนั้นเรียกว่าอารมณ์ธรรมดา ปฏิกิริยาต่างๆ ที่กระทำลงไปก็สุดแต่กำลังของอารมณ์ที่ใหญ่หรือเล็ก อารมณ์ที่เป็นเหตุให้เกิดมีปฏิกิริยาขนาดใหญ่ ย่อมมีกำลังมากพอที่จะทำให้ร่างกายสั่นหรือใจสั่น หมายความว่ามีการประทับใจมากจึงมีเจตนามาก มีผลเกิดขึ้นคือทำให้เกิด “ตัวเรา–ของเรา” ชนิดที่ใหญ่หลวง ทำให้เกิดความระส่ำระสายเป็นทุกข์อย่างยิ่งถ้าอารมณ์น้อยก็เป็น “ตัวเรา–ของเรา” อย่างน้อย และมีความทุกข์น้อย ฉะนั้นใครจะเป็นตัวตนอย่างสัตว์ชั้นต่ำหรือสัตว์ชั้นสูงก็ได้ หรือเป็นตัวตนอย่างเทวดา หรือพรหมก็ได้ (อยู่ที่ระดับจิตใจเรา)

เท่าที่บรรยายมาทั้งหมดนี้เป็นการชี้ให้เห็นลักษณะต่างๆ ของสิ่งที่เรียกว่า “ตัวตน” ให้เห็นมูลเหตุแห่งการเกิดขึ้นของมัน ให้เห็นสิ่งตรงกันข้าม คือ ความว่างจากความมี และให้เห็นวิธีปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความว่างของตัวตน ในฐานะที่เป็นปัญหาสำคัญสำหรับมนุษยชาติทั้งมวลเพราะว่าความทุกข์ของคนทั้งหลายไม่ว่าจะอยู่ในภูมิไหนสูงต่ำอย่างไรก็ล้วนแต่มีความทุกข์เนื่องมาจากสิ่งที่เรียกว่า ตัณหาหรือการสำคัญตัวเองผิด หรือการยืดมั่นถือมั่นในตัวตน ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า โดยสรุปอย่างสั้น “เบญจขันธ์ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน หรือความยึดมั่นถือมั่นในตัวเองนั่นแหละเป็นตัวทุกข์” การปรุงแต่งก็เป็นมูลเหตุให้เกิด การยึดมั่นถือมั่น นี่เป็นคำกล่าวของท่าน พุทธทาสภิกขุ ที่สอนไว้อย่างน่าคิด และยังกล่าวสอนอีกว่า

การดับการปรุงแต่งหรือตัณหาเสียได้ คือ การดับทุกข์สิ้นเชิง การมีชีวิตอยู่อย่างถูกต้องทุกลมหายใจ เข้า - ออก ทั้งในขณะปกติที่ไม่มีอารมณ์รบกวนและทั้งในขณะที่เผชิญหน้ากันกับอารมณ์นั่นแหละ คือ การปฏิบัติชอบ อันจะทำให้มนุษยชาติประสบสันติสุขอันถาวร ทั้งภายนอก และ ภายใน รวมทั้งส่วนตัวและส่วนรวมต่อสังคมและต่อประเทศจนถึงต่อธรรมชาติโลกมนุษย์เรานี้ด้วย ตลอดเวลาที่มนุษย์เราไม่เข้าถึงความจริงข้อนี้ โลกนี้จะยังคงมีวิกฤติการณ์ถาวร ระส่ำระสายวุ่นวายไม่มีหยุด อย่างที่ไม่มีใครจะช่วยได้ เพราะเป็นการกระทำที่ฝืนหลักความจริงแท้ หรือฝืนธรรมชาติ ฉะนั้นจึงอย่าได้ประมาท ในเรื่องของตัวตน จงได้พิจารณาโดยใช่ปัญญาดูกันภายในตัวเองใหม่ไปด้วยอยู่ตลอด ให้มีความเข้าใจอย่างถูกต้องทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ แล้วก็จะได้ประสบสิ่งที่ดีที่สุด หรือประเสริฐที่สุดที่มนุษย์เราควรจะได้รับกับมาต่อธรรมชาติในสรรพสิ่งนี้โดยไม่ต้องสงสัยเลย คือ การได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของทุกสรรพสิ่ง กล่าวคือ...

“ บิ๊กแบงภายในใจ”
(นิพพาน)
"Big Bang In My Mind"
(Nirvann)

ความบริสุทธิ์ของหลักสำคัญสูงสุด ทั้งสองประการ คือ จิตหนึ่งหรือพุทธะด้านหนึ่ง กับนิพพานอีกด้านหนึ่ง จะมีคุณสมบัติและความบริสุทธิ์เป็นเช่นเดียวกัน แต่ต่างกันที่มิติและมีเส้นทางที่ต่างกันออกไป เปรียบได้กับจักรวาลวิทยาว่าด้วยการเกิดของจักรวาลที่เป็นขามาหลังบิ๊กแบง กับ จักรวาลที่เป็นขากลับหลังบิ๊กครันซ์ (ซึ่งความเห็นยังไม่ยุติระหว่างจักรวาลปิดหรือจักรวาลเปิด) แต่ไม่ว่าจะเป็นบิ๊กครันช์ของจักรวาลปิด หรือจุดกลางของหลุมดำของจักรวาลเปิด ต่างก็มีแต่การเกิดๆ ดับๆ ที่ไม่สิ้นสุดในวิชาจักรวาลวิทยาใหม่ ที่ก็ไม่ได้ต่างกันกับจักรวาลในทาง

ศาสตร์ ความเป็นขามาและขากลับไป ของวิวัตตา – สังวิวัตตา ตลอดไป...
สุดท้ายนี้ของหนังสือเล่มนี้ และ สุดท้ายในอดีตกาล ก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไป ได้ตรัสคำสอนวาจาเป็นครั้งสุดท้ายแก่มนุษย์ในโลกนี้ไว้ พระองค์ได้ตรัสว่า...

“สังขารทั้งหลายทั้งปวงมีความสิ้นไป และเสื่อมไปเป็นธรรมดา”
“ท่านทั้งหลายจงทำความรอดพ้น ให้บริบูรณ์ถึงที่สุด”
“ด้วยความไม่ประมาทเถิด”


The End… (จบ)...
Big Bang In My Mind
Siriphong P.

0 Comments:

Please Comments

Sponsored Links

Thaifossil.com      ”ของแปลกของหายาก      Menu Domain      Thai Cosmic

Text Link Ads