Tuesday, August 7, 2007

จิตจักรวาลสะท้อนปัญญาบิ๊กแบงภายในใจจึงเกิด


คงเป็นเรื่องประหลาด หากคนเราไม่รู้จักคิดหรือคิดไม่เป็น เพราะมนุษย์ คือ ผู้รู้ ผู้คิด และผู้เบิกบาน ผู้แสวงหาความเป็นอิสระนั้นว่ากันตามปรัชญากรีก ที่มายืนยันบันทึกซ้ำบางส่วนในพระคัมภีร์ ประเด็นคือ ที่รู้ ที่คิด ที่เบิกบาน เป็นอิสระที่ว่านั้น มันมีที่มาของมันอย่างไรและเพื่ออะไร คิดว่าชีวิตเกิดมาโดยบังเอิญแล้วตายไปจบสิ้นแค่นั้นจึงต้องเบิกบานกันกระนั้นหรือ นักปรัชญากรีกที่ว่ารวมทั้งอริสโตเติลเองยังบอกว่า มนุษย์ต้องมีคุณภาพ และความสุขสนุกสนานความเบิกบานคือคุณภาพนั้น นักวิทยาศาสตร์โดยวิชาวิทยาศาสตร์ของ นิวตัน ของ ดาร์วิน และ ของ ซิกมันต์ ฟรอยด์ ที่เราเรียนมาก็บอกว่าถูกต้องแล้ว มนุษย์เกิดมาโดยบังเอิญและจะตายเมื่อไรก็ไม่รู้

ดังนั้นช่วงของการดำรงอยู่ เราจึงต้องเรียนรู้โลกเรียนรู้ธรรมชาติแสวงหาคุณภาพความเบิกบานความเป็นอิสระตามที่ตาเห็นเพราะว่าโลกและธรรมชาติมีแค่นั้น คือ ต้องมีรูปเป็นวัตถุและเคลื่อนที่ตามที่ตาเห็นจริงๆ ดังที่นักสังคมนักปรัชญากายภาพไม่ว่าจะเป็น เดส์การ์ตส์ เบคอน และ ทอมัส ฮอบส์ และต่อมาแม้เมื่อกลางศตวรรษที่แล้วนี้เอง เบอรแทรนด์ รัสเซลล์ ก็พูดทำนองนั้น คือ พูดว่าแม้แต่อามรณ์ความรักและความเชื่อล้วนเป็นความมั่วซั่วของอะตอมที่วิ่งวุ่นไปมา อะไรที่มองไม่เห็นไม่มีรูปไม่มีจริง แต่อีกด้านหนึ่งนักศาสนานักอภิปรัชญากลับบอกว่าไม่จริงไม่ถูกต้อง ที่รู้ที่คิดที่ถูกมันลึกล้ำกว่ารูปวัตถุที่ตาเห็น ความเบิกบานที่พูดๆ กันก็ไม่ใช่ความปิติสุขที่อิ่มเอมล้ำลึกและความอิสระที่ว่านั้นก็ไม่ใช่ความอิสระจริงๆ ดัง โพลตินัส ได้พูดไว้ในเอ็นเนียร์ตเล่มที่ห้าว่า ความสุขความอิสระที่แท้จริงนั้น เป็นเรื่องของจิตที่เชื่อมรวมกับแสงกระจ่างที่บางเบานั่น คือ เมื่อเราละได้ซึ่งทุกสิ่งหลุดจากทุกสิ่ง มองที่ด้านนี้จึงเป็นการคิดการเห็นด้วยจิตที่ผ่านพ้นเหนือจิตรู้ จึงปิติเบิกบานและเป็นอิสระ เป็นความปีติอิสระอีกแบบหนึ่ง ไม่ใช่สุขแบบสนุกสนานสำราญบานใจชั่วครู่ยาม (Have Fun)

ทุกวันนี้ที่เรารู้ ทั้งยังมีหลักฐานทางฟิสิกส์และหรือวิทยาศาสตร์ทางจิตพอสมควรที่ชี้บ่งบอกว่าการปฏิบัติจิตปฏิบัติสมาธิอย่างต่อเนื่องสามารถเอื้อต่อวิวัฒนาการของจิตวิญญาณสู่ระดับที่ทางจิตวิทยาเรียกว่าระดับ “ผ่านพ้นตัวตน” ไปตามระนาบและระดับที่อาจสูงล้ำกว่ากันระหว่างปัจเจกบุคคลกับวิธีปฏิบัตินั้นๆ ระนาบและระดับหนึ่งคือสภาพที่เรียกว่า “สภาพจิตที่เปลี่ยนไป” จากสภาพจิตรู้หรือมโนสำนึกในปกติ แต่จริงๆแล้วสภาพจิตที่เปลี่ยนแปลงไปที่ว่านี้ อาจเกิดขึ้นมาเองในคนทุกคนทั่วๆไป ส่วนหนึ่งอาจเป็นสิ่งเดียวกันกับ ญาณทัสนะ (Intuition) ความคิดความรู้ที่โผล่พลุ่งขึ้นมาเองในความสงบในความฝันหรือเป็นพรสวรรค์ของบุคคลบางคนหรือเป็นเหตุการณ์เร้นลับเหนือธรรมชาติที่เกิดกับชุมชนในบางครั้งนั่นคือสิ่งที่คลาร์ค จึงเรียกว่า “อุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างพ้องจ้องกัน” ประสบการณ์เหนือธรรมชาติ หรืออภิญญาณบางอย่าง กระทั่งเป็น ปัญญาเหนือปัญญา และ ความรู้เหนือความรู้ ดังที่มีบันทึกเป็นประวัติศาสตร์เอาไว้ในที่ต่างๆ (อ้างจาก : Wilis Harman as Editor ; New Metaphysical Foundation of Modern Science, 1994 ; David Lorimer as Editor ; The Spirit of Science, 1999)

หนังสือของโจเซพ เพียรซ (Joseph C. Pearce : The Biology of Trancendence, 2002) ในตอนที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับความสามารถเหนือธรรมชาติของเขาเองในช่วงที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยแล้ว ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในตอนแรกคือไม่เข้าใจหรือจริงๆแล้วไม่เชื่อนั้นเอง ไม่กี่วันมานี้ได้พบกับ เดวิต สปิลเลน เพื่อนที่คุ้นเคยกับเขามานานที่เพียรซอ้างถึงในหนังสือเล่มนั้น เดวิดยืนยันว่าเป็นเรื่องจริงหรือเป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนที่สามารถนำจิตของตนเองเข้าสู่สภาวะ “จิตที่เปลี่ยนสภาพไป” ในช่วงนั้น จิตอยู่ในภวังค์เช่นนั้น ประหนึ่งไม่ใช่เป็นตัวของตัวเองแต่เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ หรืออาจอธิบายว่าเป็นอภิญญาณ ที่เกิดจากจิตที่แน่วนิ่งอยู่กับสมาธิหรือที่จดจ่อกับงานหรือสิ่งที่กำลังเกี่ยวข้องอยู่ในขณะนั้นๆ เพียรซเล่าให้ฟังว่า เขาไม่เป็นอะไรเลยเมื่อถูกจี้ด้วยบุหรี่แดงวูบวาบร้อนจัดที่จี้ลงไปที่ริมฝีปากต่อหน้าเพื่อนๆ ที่หอพักของมหาวิทยาลัย ที่ว่าไม่เป็นอะไรเลยคือไม่เป็นอะไรเลยจริงๆ แม้แต่รอยแดงสักน้อยนิด ความร้อนของบุหรี่เมื่อเพื่อนที่เรียนฟิสิกส์เอาไปทดสอบปรากฏว่าร้อนจัดถึง ๑๓๘๐ องศาฟาเรนไฮต์ ยิ่งเมื่อเพียรซเล่าถึงการรับคำท้าของเพื่อนคนหนึ่ง ด้วยการปีนขึ้นไปบนภูเขาลูกหนึ่งซึ่งเป็นภูหินทรายที่มีชื่อริมมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นหน้าผาที่สูงมากและชันมากแทบว่าจะตั้งฉากกับพื้นดิน แถบตอนบนสุดช่วงยอดหลายสิบเมตรเป็นส่วนที่หน้าผายืนชง้ำออกมาเป็นจะงอยโดยไร้ผนังผาที่จะใช้เหยียบยึด แต่เพียรซสามารถปืนขึ้นไปได้อย่างปลอดภัยท่ามกลางความไม่เชื่อสายตาของเพื่อนๆ เพียรซ บอกว่าในตอนปีนหน้าผาขึ้นไปตลอดระยะทางและตลอดเวลา เขาเพียงรู้ตัวว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของภูผานั้นเป็นส่วนหนึ่งของโลกทั้งหมด เพียรซเล่าว่าเขาไม่เคยมีความสงสัยหรือลังเลใจว่าจะปีนไม่ได้ หรือจะมีความกลัวแม้แต่น้อยนิดเกิดขึ้นในจิตใจของเขาตลอดช่วงเวลาที่ปีนขึ้นไป จนกระทั่งไปยืนอยู่บนที่ราบยอดเขาที่เพื่อนนักศึกษามหาวิทยาลัยหลายคนยืนออรอกันอยู่ด้วยสีหน้าที่ฉาบด้วยความไม่เชื่อสายตาผสมความตื่นใจ นั่นคงเป็นประสบการณ์เดียวกันกับที่คนลุยไฟลุยถ่านที่ลุกแดงร้อนจัดในพิธีกรรมบางศาสนาที่เราเคยได้ยินกันจนชินหู แต่ไม่รู้ว่าจะเชื่อทั้งหมดดีหรือไม่ดี หรือมีคำอธิบายให้กับตัวเองอย่างไร ดังนั้นหลายคนจึงไม่เอามาคิดหรือไม่ก็หนีประเด็นไปเลย เหมือนกับว่าเป็นเรื่องแหกตาหลอกลวงโดยไม่คิดที่จะสืบสาวให้ลึกลงไป

นั่นก็เหมือนกับศาสตราจารย์จิตวิทยาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่ชื่อว่าริชาร์ด อัลเปิร์ต ที่ไปทดสอบผลของยาแอลเอสดีที่อินเดียในปี ๑๙๖๖ เขาได้มีโอกาสทดลองกับนักปฏิบัติจิตนักปฏิบัติสมาธิในศาสนาฮินดูและพุทธศาสนาสายทิเบตสามสี่คน ก็พบว่านอกจากแอลเอสดีที่แม้โดยขนาดที่เกิดอันตรายก็ไม่สามารถยังผลในทางเภสัชวิทยาใดๆ ให้กับผู้วิเศษเหล่านี้ได้ บางคนในกลุ่มนี้บอกว่ายานี้อาจช่วยให้คนธรรมดาเข้าสมาธิได้เร็วขึ้น แต่ก็เป็นคนละระดับกับวิธีที่ตนปฏิบัติที่สามารถเข้าถึงสภาวะสมาธิลึกๆได้ในทันที ผู้วิเศษเหล่านี้สามารถแสดงให้ริชาร์ด อัลเปิร์ต เห็นว่า ทันทีที่สภาพจิตของพวกเขาได้เปลี่ยนแปลงไป พวกเขาสามารถทำให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายเกิดเป็นก้อนเนื้อเป็นตุ่มเป็นเนื้องอกผลุบๆ โผล่ๆ ตรงนั้นตรงนี้ได้ตามแต่ใจปรารถนา ริชาร์ด อัลเปิร์ต ลาออกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดมาฝึกสมาธิสายฮินดูที่อินเดียตั้งแต่นั้น แถมยังเปลี่ยนชื่อเป็นชาวภาระตะว่า “รามทัสส์” (Ramdas ดู Richard Alpert ; Be Here Now. 1971) รามทัสส์กลายเป็นครูสอนสมาธิการปฏิบัติจิต ทีแรกในด้านของสุขภาพกับการรักษาโรคต่อมาจนขณะนี้ได้หันมาเน้นด้านของสิ่งแวดล้อมหรือนิเวศวิทยาลุ่มลึก ที่มีชื่อเสียงอย่างยิ่ง ในด้านของความรู้โดยเฉพาะโดยคำถาม ที่ถามถึงที่มาของความรู้และกระบวนการทั้งหมดที่เราได้ความรู้มันมาจากไหนและมาได้อย่างไร จริงๆ แล้วเราคิดว่ามันมาโดยการคิดการรู้ที่ได้มาจากสองเส้นทาง คือ

- หนึ่งเส้นทางภายนอก การตื่นตัวหรือสติและการรับรู้โดยประสาทสัมผัสที่เปิดสู่ภายนอก ตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัส การรับรู้ของจิตพื้นฐาน ที่โดยเริ่มต้นมีเป้าหมายเพื่อการอยู่รอดของชีวิต

- สองเส้นทางภายใน อาศัยประสบการณ์ที่ได้จากภายนอกที่ว่านั้น ผ่านสมองในส่วนลิมบิก (ศัพท์ทางกายวิภาค) ที่ว่าด้วยอารมณ์ความรู้สึกของสมอง และความจำของอดีตที่เราไม่รู้ว่าเป็นอดีตของเมื่อไร ผสมผสานผ่านต่อไปยังสมองส่วนนิโอคอร์เท็กซ์ (ศัพท์ทางกายวิภาค) ทั้งหมดพัวพันก่อประกอบเป็นจิตสำนึก หรือจิตรู้ และหากเอามาประกอบเป็นจินตนาการที่แน่วแน่ หรือเอามาหมุนเวียนสะท้อนกลับไปมา ในที่สุดความคิดในรูปแบบของปัญหาอีกระดับหนึ่ง หรือข้อมูลเหนือปัญญาก็จะโผล่โพล่งปรากฏขึ้นมาเหมือนสายฟ้าแลบ บางที่ขณะกำลังหลับ นั่นคือปัญญาที่อาจเรียกว่าญาณทัสนะที่กล่าวมาแล้ว ที่เป็นปัญญาหรือข้อมูลที่ทำให้เราต้องอุทาน เออ!...จริงๆ ด้วย! ขึ้นมา ปัญหาที่นักฟิสิกส์หลายๆ คนคิดว่าไม่ใช่ปัญญาที่สร้างหรือส่วนประกอบที่สมอง

ไม่ว่าด้วยเส้นทางภายนอกหรือภายในที่กล่าวมาข้างต้น พื้นฐานที่สุดของจักรวาล คือ “จิตวิญญาณ” ที่เป็นข้อมูลการค้นหาความจริงแท้ของนักฟิสิกส์แควนตัมสายปรัชญาที่ค้นพบและแสดงออกซึ่งหลักฐานใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ตลอดเวลา ที่ไม่ว่านักฟิสิกส์ยุคใหม่ที่ไม่ชอบปรัชญา ผู้ขี้เกียจคิดซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ทั่วไปจะชอบใจหรือไม่ชอบใจอึดอัดใจหรือไม่ ในที่สุดจำเป็นต้องค่อยๆ รับความจริงใหม่ที่ค้นพบเพิ่มขึ้นไปทีละอย่างสองอย่าง

โดยเฉพาะหนังสือของนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ผู้เป็นนักแควนตัม ที่เขียนราวกับว่าเป็นนักศาสนานักอภิปรัชญาเขียน บอกว่ามีหลักฐานทางฟิสิกส์ที่อาจทำให้ติดต่อไปได้ว่า สนามแควนตัมสากลของจักรวาลที่ให้จิตปัญญาที่สูงล้ำ ที่เมื่อจักรวาลรู้ตัว จะสามารถเชื่อมโยงกับจิตของมนุษย์ที่อยู่ในจินตนาการอยู่กับงานเฉพาะหน้าอย่างแน่วแน่ นั่นคือ จักรวาลเป็นจิตปัญญาที่สามารถสะท้อนปัญญานั้นๆ ให้กับมนุษย์ที่ตั้งใจระลึกหรือนึกถึงอย่างแน่วแน่นั้น ตรงนี้คือที่มาและเนื้อหาของญาณทัสนะที่เป็นฐานคิดของ “วิธีคิดใหม่” นอกจากนั้นตรงนี้ก็อาจเป็นคำตอบต่อการขอพระขอเทพเทวาเทวดาช่วย และเป็นคำตอบส่วนหนึ่งต่อการยังผลของการรักษาโรคด้วยการสวดมนต์ จิตจักวาลจึงสะท้อนปัญญาให้เกิดขึ้นจากภายใน

ปัญญา คือความรอบรู้ โดยทั่วไปเรามักจะเข้าใจคำนี้กันดี เพราะการศึกษาวิชาการทุกแขนงก็เพื่อให้เกิดปัญญา ต้องการรู้สิ่งที่ยังไม่รู้ ไม่ว่าความรู้นั้นจะอยู่ใกล้หรือไกล เช่น การสำรวจจักรวาล ก็เพราะอยากรู้อยากเห็น อยากได้ปัญญา ความเข้าใจเรื่องปัญญาดังกล่าวก็ถูกต้อง แต่เป็นเพียงโลกียปัญญาเพราะฟังคนอื่นมาหรือเรียนรู้ หรือปัญญาเพราะคิดค้นด้วยตัวเอง การทดลอง ตั้งทฤษฎีต่างๆนาๆขึ้นมา ความรู้ที่เกิดขึ้นจากปัญญาระดับนี้ไม่เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ หลุดพ้นเข้าถึงบิ๊กแบงภายในใจ เพราะเป็นความรู้เกี่ยวกับเรื่องนอกตัวเองเสียมากกว่า

ส่วนคำว่าปัญญาในที่นี้มีความหมายลึกซึ้งกว่านั้น คือหมายถึง ความรอบรู้สภาวะความจริง ซึ่งเป็นไปด้วยความเป็นเหตุและผลของกันและกัน เป็นปัญญาระดับจิตใจหรือความสงบสมาธิชั้นสูง ปัญญาระดับนี้ทำให้จิตใจของบุคคลเป็นอิสระไม่ตกเป็นทาสของสิ่งหนึ่งสิ่งใด หลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสและความทุกข์ สว่างและสงบเยือกเย็นเกิดขึ้นภายในจิตใจนี้ คือความหมายของคำว่า “ปัญญา” บิ๊กแบงภายในใจจึงเกิดขึ้น ...

0 Comments:

Please Comments

Sponsored Links

Thaifossil.com      ”ของแปลกของหายาก      Menu Domain      Thai Cosmic

Text Link Ads