Tuesday, August 7, 2007

ความสุขเสมอด้วย ความสงบไม่มีด้วย


ความสุขเป็นสิ่งที่ปรารถนาของมวลมนุษย์ ทุกคนอยากมีอยากได้ อยากยึดรักษาไว้ให้นานที่สุดหรือตลอดกาล ศาสนาต่างๆจึงเน้นถึงเรื่องความสุข บางศาสนามีพิธีกรรมที่ชักนำให้เกิดความสุข เช่น การร้องเพลงในโบสถ์ มีการสวดอ้อนวอนขอสิ่งที่ต้องการ การฉลองวาระสำคัญต่างๆด้วยพิธีที่มีความสุข เช่น การให้ของขวัญแก่กันเด็กๆจะตั้งตารอวาระสำคัญทางศาสนานับเป็นการชักจูงให้มีศรัทธาต่อศาสนาอย่างยิ่ง
แต่เหตุใดในพุทธศาสนาไม่เน้นเรื่องความสุข! แม้ในวาระสำคัญทางศาสนาพุทธก็มุ่งในด้านให้เกิดความสงบมากกว่า เช่น การเวียนเทียน เข้าโบสถ์สวดมนต์ เพราะพุทธศาสนาถือว่า “ความสุขเสมอด้วย ความสงบไม่มีด้วย” บางคนไม่เข้าใจ ความสงบ ที่พระพุทธองค์หมายถึง คือ ความเงียบ ไม่วุ่นวายไปจนถึงนิพพาน ซึ่งบางคนพบเข้ากลับมีทุกข์เพราะอยากสนุกสนาน ความสงบที่ทางพุทธศาสนาหมายถึง ในด้านธรรมะไม่ใช่ทางโลก หมายถึง สงบจากจิตที่เป็นสมาธิ ไม่สอดส่ายไปข้างนอก ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ไม่ติดกิเลส ความสุขที่เกิดจากสมาธิจะเหนือกว่าความสุขทางโลกเพราะทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะแวดล้อม พุทธศาสนามิได้ปฏิเสธความสุข เพียงแค่ชี้ให้เห็นว่าความสุขไม่จีรัง แนะนำไม่ให้คนติดยึดกับความสุข ซึ่งมีความไม่แน่นอน ไม่ยั่งยืน เป็นอนิจจัง ไม่ช้าเมื่อความสุขหายไปก็จะเกิดความทุกข์ความผิดหวัง ทำให้คนอาจทำอะไรไม่ถูกต้องจึงเกิดทุกข์ตามมา แต่ถ้าคนใดมองทุกข์เป็นหลัก เมื่อพบความสุขก็จะนึกรู้อยู่เสมอว่าไม่ยั่งยืน เมื่อเกิดปัญหาหมดความสุขจะสามารถทนรับความทุกข์ได้ดีกว่าผู้ที่ยึดความสุขเป็นหลัก

พุทธศาสนาได้อธิบายถึงกลไกการเกิดความสุขว่า เกิดจากสิ่งเร้าจากภายนอกมากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ โดยมีใจเป็นตัวรับ (ดังที่อธิบายมาแล้วในบทก่อนๆ) โดยมีการปรุงแต่งที่เรียกว่า สังขาร ออกมาเป็นความทุกข์ ความสุข หรืออารมณ์เฉยๆ (ไม่ทุกข์ไม่สุข) จะเห็นได้ว่าสิ่งเร้าอย่างเดียวกันอาจทำให้เกิดผลต่างกัน เช่น การฟังเพลงๆหนึ่ง ในบางอารมณ์จะฟังว่าเพราะเกิดความสุข แต่ในบางอารมณ์เพลงเดียวกันนี้กลับรู้สึกว่าหนวกหูรำคาญเกิดความทุกข์ ถ้าเราพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าสุขและทุกข์อยู่ติดกันจนแยกไม่ออก ทางธรรมะของท่าน พุทธทาสภิกขุ เคยกล่าวไว้ว่า “ถ้าไม่วางสุขก็ไม่พ้นทุกข์ ถ้าวางสุขทุกข์ไม่ต้องวางก็หายเอง” นี่เป็นคำกล่าวที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ถ้าใครลองคิดดู แน่นอนครับ! ทุกคนย่อมหาความสุขกันทุกคน แต่สิ่งที่ทุกคนหาความสุขกันนั้น เป็นความสุขแท้จริงหรือ ท่านพุทธทาสภิกขุ ยังกล่าวอีกว่า “สุขอาจเปลี่ยนเป็นทุกข์ได้ในพริบตา แต่จากทุกข์เป็นสุขเกิดช้ามาก ถ้าเปรียบสุขเป็นสีขาว ทุกข์เป็นสีดำ เอาสีดำขาวผสมลงไปตามสัดส่วนของประสบการณ์ของชีวิตจริง ผลคงออกมาเป็นดำมากหรือดำน้อยเท่านั้นไม่มีขาวเหลืออยู่ พุทธศาสนาจึงเรียกสุขทุกข์ และไม่สุขไม่ทุกข์นี้ว่า เวทนา ได้แก่ สุขเวทนา ทุกข์เวทนา และอทุกข์สุขเวทนา ซึ่งคำว่าเวทนาตามตัวแปลว่า ความโง่ ความน่าสงสาร ความไม่รู้แจ้ง (อวิชชา) ซึ่งเป็นปัจจัยต่อเนื่องให้เกิดตัณหา และอุปาทาน พระพุทธศาสนาจึงไม่ได้เน้นเรื่องความสุขด้วยเหตุดังข้างต้นนี้ ไม่สอนให้คนติดอยู่กับความสุขซึ่งไม่ยั่งยืนเพราะขึ้นอยู่กับการปรุงแต่ง อย่าดิ้นรนแสวงหาสุขจนเป็นทุกข์ อย่ายึดถือไว้จนเป็นทุกข์ ถ้าปรับใจตนเองได้อย่างนี้คงจะอยู่ในโลกนี้โดยมีสุขพอประมาณและมีทุกข์แต่พอควร อาจกล่าวได้ว่า ผู้แสวงหาสุขทางใจ มีอยู่เพียงกี่คนก็ตามที ก็เป็นเหมือนลูกตุ้ม ที่ถ่วงโลกไว้มิให้หมุนไปถึงยุค “กลียุค” เร็วเกินไปเพียงนั้น ดังที่กล่าวมาแล้วในบทก่อนหน้านี้ตามคัมภีร์ปุราณของชาวฮินดู เรายอมรับว่าเป็นลูกตุ้มจริง แต่ว่า เป็นลูกตุ้มที่ถ่วงไม่ให้พวกเราไปสู่ยุคนั้นเร็วเกินไป นี่อาจเป็นคำที่ซึ่งพวกแสวงสุขทางจิตภายใน ควรจะพูดได้ว่า โดยชอบธรรม! การเรียนรู้สรรพสิ่งหรือความจริงหรือทางพุทธศาสนาที่เรียกว่า “ปริยัติธรรม” หรือ “ธรรม” ในส่วนหลักวิชานั้น ช่วยได้โดยเป็นเครื่องสะกิดใจให้รู้สึกในเบื้องต้นว่า เรามีกายสองซีกคือ ซีกรูปกาย และ ซีกธรรมกาย

รูปกาย เจริญได้เองด้วยการมี บิดามารดาเป็นแดนกำเนิดเกิดเติบโตขึ้น และด้วยการเลี้ยงดูข้าวปลาอาหาร การเจริญเติบโตทางสรีรศาสตร์ทางร่างกาย

ธรรมกาย เจริญได้ด้วยการฝึก นั้นมี กาย วาจา ใจ ที่สุจริตผ่องใส เป็นที่ตั้งที่ปรากฏ มีผลของความสุจริต เป็นอาหาร ที่จะบำรุงให้เติบโตสืบไป และทำให้เรารู้สึกสืบไปเป็นลำดับ

สรุปความว่า การเรียนรู้ในสรรพสิ่งของธรรมชาติความจริง (ปริยัติธรรม หรือ ธรรม) ช่วยให้เราทราบว่า เราจะต้องประพฤติธรรม เช่นนั้นเช่นนี้ เพื่อธรรมกายของเรา มิฉะนั้นเราตายด้านไปซีกหนึ่ง เมื่อเรารู้ความจริงในสรรพสิ่งพอสมควรแล้ว เราก็ได้ อาหารของดวงใจ ในส่วนหลักวิชา และ ภาคพื้นของการปฏิบัติ หรือที่เรียกในทางพุทธว่า สัมมาทิฎฐิ คือการชอบธรรม และรุ่งอรุณได้ปรากฏแก่เราแล้ว เป็นแรกเริ่มเป็นการย่างก้าวเข้าสู่บิ๊กแบงภายในใจแล้ว

ต่อมาการปฏิบัติธรรม หรือ ธรรม คือ ตัวการปฏิบัตินั้น เป็นการ “ทรมานอินทรีย์” เพื่อเอาชนะอินทรีย์ ชนะได้เท่าใด ความเยือกเย็น พร้อมทั้งความรู้แจ้งก็เกิดขึ้นเท่านั้น ความเยือกเย็นเกิดจากความที่ อินทรีย์ สงบรำงับลง ความเห็นแจ้ง ความจริงในตัวเอง ปรากฏเพราะ ไม่ถูกม่านแห่งความกลัดกลุ้มของอินทรีย์ปิดบังไว้ เช่นแต่ก่อนวิธีเอาชนะ อินทรีย์ ตามหลักแห่งพุทธศาสนา ได้แก่ การบังคับตัวเองให้งดเว้นจากสิ่งชั่ว บังคับตัวเอง ให้ทำแต่สิ่งที่ดีเข้าแทน และต่อจากนั้นพยายามหาวิธีชำระจิตให้เป็นอิสระจากความหม่นหมอง ทั้งที่เปิดเผย เห็นได้ง่ายๆ และที่นอนนิ่งเงียบๆ อยู่ในสันดาน อันเป็นเหมือนเชื้อที่ก่อเกิดของอย่างแรก หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้แก่ การบังคับกาย และ วาจา ให้อยู่ในอำนาจ เรียกว่า “ศีล” การบังคับจิตให้อยู่ในอำนาจ เรียกว่า “สมาธิ” และใช้จิตที่อยู่ในอำนาจแล้ว คือ ค้นหาความจริง ที่ยาก ที่ลึก จนปรากฏ แจ่มแจ้ง เรียกว่า “ปัญญา” การบังคับหรือ ควบคุมอินทรีย์เช่นนี้ ทำให้ดวงใจ ได้รับความสะบักสะบอมน้อยลง วัตถุหรืออารมณ์ทั้งหลาย มีพิษสงน้อยเข้า หรือหมดไป เพราะที่เราสามารถบังคับตัวเอง ไว้ในภาวะที่จะไม่หลงใหลไปตามในทางที่ชอบ และ ในทางที่ชังเมื่อใจเราได้รับความพักผ่อนอย่างผาสุก เนื่องจากการบังคับอินทรีย์ของเราเช่นนี้แล้ว เราก็ได้เข้าใจในสรรพสิ่งของธรรมชาติความจริง ในส่วนของการปฏิบัติ อันจะเป็นอุปกรณ์ให้ได้เข้าถึง และจะเข้าไปถึงสืบไปอีกเพื่อเกิดการรู้แจ้งในสรรพสิ่ง

ท่าน พุทธทาสภิกขุ ยังกล่าวสอนอีกว่า การปฏิบัติธรรม หรือธรรมในส่วน การรู้แจ้งนั้น จะแทงตลอดในสิ่งที่เคยหลงใหล จะรู้เท่าทัน เป็นความรู้ชนิดที่จะตัดรากความหม่นหมองของจิตใจเสีย เช่น ความสงสัย ความเข้าใจผิด หลงรัก หลงชัง ฟุ้งซ่าน ฯลฯ เสียแล้ว ทำความแจ่มแจ้งใจ โปร่งใจ เยือกเย็นใจ ให้เกิดขึ้นแทน นี้เป็นผลที่ปรากฏแก่ใจ สมจริงตามที่เรียนรู้ ทางหลักวิชาความจริง (ธรรม) เมื่อได้เป็นลำดับมาจนลุถึง พระนิพพาน เช่นนี้แล้ว ต่อจากนั้นก็เป็นใจที่มีรสของ พระนิพพาน ในที่นี้หมายถึง ความเยือกเย็น ของพระนิพพาน หรือ สภาพอันหนึ่ง ซึ่งเป็นสภาพแห่งความว่างโปร่ง เป็นอิสระเหนือสิ่งทั้งหลาย เหนือรูปธรรมนามธรรม เหนือกฎต่างๆแห่งรูปธรรมและนามธรรม ทั้งหมด และเป็นสิ่งที่ใครจะตั้งกฎเกณฑ์อะไรให้ไม่ได้เลย เปรียบเทียบได้กับเมื่อเราอาบน้ำ เราได้รับความเย็นของน้ำ เช่นกันเมื่อใจลุถึงพระนิพพาน มันย่อมเยือกเย็นเพราะความเย็นของพระนิพพานนั่นเอง

มาถึงตรงนี้ มาถึงความจริงแท้เข้าถึงสรรพสิ่ง เป็นสิ่งที่ท่าน พุทธทาสภิกขุ ท่านกล่าวได้ว่า เป็นยอดประสบการณ์ชั้นพิเศษของภายในใจ ก็เพราะความหม่นหมองต่างๆของภายในนั้น ถูกสลัดทิ้ง เสียหมดแล้ว ตั้งแต่ได้รับฝึกฝนกันมาเป็นขั้นๆ จนถึงขั้นปฏิเวธขั้นสูง มาบัดนี้ ได้รับความเยือกเย็นของพระนิพพานเข้าอีก จึงเป็นการยากที่จะกล่าว ให้เป็นที่เข้าใจกันอย่างทั่วไปว่า รสชาติอันนี้ ในขณะนี้ จะเป็นอย่างไร ท่านจึงกล่าวว่า เป็นสิ่งที่แม้แต่อยากพูดให้ฟัง ก็ไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไร อย่าว่าแต่รสชาติของพระนิพพานเลย แม้เพียงแต่ รสของวิเวก หรือ สมาธิขั้นต้นๆ ก็เป็นของยากที่จะอธิบายว่า มีรสชาติเป็นอย่างไรเสียแล้ว เพราะเป็นรสที่ต้องจัดเป็นรสแปลกใหม่อีกรสหนึ่ง จากที่คนธรรมดาเราเคยรู้รสกันมาในวงแห่งโลกธรรม ความจริงตามธรรมดา สิ่งที่เรียกกันว่า รสหรือประสบการณ์นั้น เป็นของอธิบายยากมาก บางอย่างไม่มีทางจะเทียบเคียงเสียเลย เช่น นาย ก.ไม่เคยกินของหวานเลย นาย ข.ก็ไม่อาจที่จะอธิบายให้ นาย ก.ทราบได้ว่า รสหวานนั้นเป็นอย่างไร จะอธิบายว่าตรงกันข้ามกับ ขม กับ เค็ม กับเปรี้ยว หรือ อะไรก็แล้วแต่ นาย ก.ก็ไม่อาจทายได้ว่า รสหวานนั้นเป็นอย่างไร แม้ นาย ข.จะคิดค้นหาคำใดมาพูดก็ไม่ได้คงไม่ได้ความ ในการอธิบายรสหวานเป็นอย่างไร นี่เองคือ ความเป็นของอธิบายให้ชัดไม่ได้ของหรือประสบการณ์ของ พระนิพพาน ซึ่งผู้เขียนเองนำมาเปรียบเทียบเป็น (บิ๊กแบงภายในใจ)

ผู้เขียนเองนี้ ก็มิได้เคยมีประสบการณ์อย่างที่กล่าวมานี้เองมาก่อนหรอก เป็นผู้ที่กำลังเดินรอยตามการปฏิบัติในแนวทางนี้ ที่ผู้เขียนเองคิดว่าดีสำหรับผู้เขียนเอง และดีสำหรับผู้อ่านด้วยเช่นกัน อย่างที่บอกไปว่า จะหาคำอธิบายใดๆจากประสบการณ์หรือรสชาติของ พระนิพพาน (บิ๊งแบงภายในใจ) ก็มิได้ นอกจากทางเดียวคือ การปฏิบัติเดินรอยตามเพื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ นิพพาน (บิ๊งแบงภายในใจ) เรานี้เอง

นอกจากความสุขทางโลกที่เรียกว่า โลกีย์สุข ของคนทั่วไปแล้ว ท่าน พุทธทาสภิกขุ ยังกล่าวต่อว่า ทางพุทธศาสนาจะเน้นถึงความสุขที่เกิดจากการปฏิบัติภาวนา เพราะเป็นความสุขที่เป็นประโยชน์และยั่งยืนกว่า ไม่ได้มีการปรุงแต่งด้วยการคิด(สังขาร) ไม่ได้เป็นความรู้สึก(เวทนา) กล่าวได้คือ

- ความสุขที่เกิดจากการปฏิบัติสมาธิ (ขั้น๑)
- จิตเข้าสู่ปฐมฌานจะเกิดความรู้สึกปีติสุขที่เกิดจากสมาธิ ซึ่งเมื่อถึงทุติยฌาน (ขั้น๒)
- วิตกวิจารดับไปแต่ยังมีปิติสุขอยู่ เมื่อเข้าตติยฌาน (ขั้น๓)
- ปิติจึงดับ เหลือแต่สุข แต่เมื่อถึงจตุตถฌาน (ขั้น๔) สุขจึงดับ เหลือแต่เอกัคคตาและอุเบกขา ปล่อยวางจากทุกสิ่งทุกอย่า

ดังนั้นผู้ที่แสวงหาความสุขที่แท้จริงพึงได้จากการปฏิบัติสมาธิเท่านั้น นักปฏิบัติจำนวนไม่น้อยติดอยู่กับสุขนี้ ซึ่งยังถือเป็นสุขทางโลกอยู่ ถึงแม้ว่าสูงกว่าความสุขทางโลกทั่วๆจนถึงจุดสูงสุดที่ว่า “ความสุขเสมอด้วย ความสงบไม่มีด้วย” ซึ่งหมายถึงสุขจากนิพพาน พระพุทธองค์เคยได้เทศนาสอนให้พระอานนท์ดังนี้...
“บุคคลผู้ปรารถนาความสุขในภพนี้และภพหน้าแล้ว จงรักษาใจให้ได้รับความสุข ส่วนตัวตนร่างกายภายนอกไม่สำคัญ เมื่อตายแล้วก็ทิ้งอยู่เหนือแผ่นดินหาประโยชน์มิได้ ส่วนใจนั้นติดตามตนไปในอนาคตเบื้องหน้า”

ขอสรุปขั้นสั้นที่สุด ศีล สมาธิ ปัญญา กล่าวคือ
- การบังคับกาย และ วาจา ให้อยู่ในอำนาจ เรียกว่า “ศีล”
- บังคับจิตให้อยู่ในอำนาจ เรียกว่า “สมาธิ”
- การใช้จิตที่อยู่ในอำนาจแล้ว คือ ค้นหาความจริงที่ลึก จนปรากฏแจ่มแจ้ง เรียกว่า “ปัญญา”

0 Comments:

Please Comments

Sponsored Links

Thaifossil.com      ”ของแปลกของหายาก      Menu Domain      Thai Cosmic

Text Link Ads