Tuesday, August 7, 2007

ปริศนาจิตวิญญาณมนุษย์


เท่าที่ได้อ่านและศึกษามานั้น เชื่อว่านักคิดนักปรัชญา และนักวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะนักฟิสิกส์ ระดับนำทุกคนกระมัง ที่พูดเหมือนๆ กันว่า “มนุษย์” คือ จักรวาล ภายใน คือ จิตรู้ ที่มีขึ้นมาเพื่อเรียนรู้จักรวาลภายนอก หรือพูดว่ามนุษย์ คือ จักรวาลที่มีขึ้นเพื่อเรียนรู้ตัวเอง หรือพูดว่ามนุษย์มีขึ้นมา เพื่อให้จิตรู้มีที่ตั้งหรือเป็นฐาน เพื่อการเรียนรู้ความจริง ปริศนาของ ปรัชญา ศาสนา และวิทยาศาสตร์จึงเกี่ยวกับนิยามของความเป็นมนุษย์อย่างแยกจากกันไม่ได้

ปริศนาอาจเป็นคำถามที่มีเป้าหมายเบื้องต้นที่ความลี้ลับของ “จักรวาล” ความเป็นมาและจุดมุ่งหมายของการเกิดขึ้นมาและการดำรงอยู่ รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างกันของธรรมชาติในสรรพสิ่งและชีวิต โดยเฉพาะมนุษย์เรา ส่วนปรัชญาและศาสนา อาจเป็นคำตอบหรือความพยายามที่จะแสวงหาความจริงที่อยู่เบื้องหลังคำถามธรรมชาติในสรรพสิ่งเหล่านั้นด้วยปัญญา เพื่อยังหาความรู้ความเข้าใจร่วมกันของมนุษย์เราต่อความจริงแท้

ในด้านปฏิบัติ ปริศนามักจะซ่อนเงื่อนงำของประสบการณ์ ธรรมชาติที่คนทั่วไปมักจะนึกไม่ถึงหรือนึกไม่ทันเอาไว้ แต่หากว่าปริศนาใด ซ่อนเงื่อนของประสบการณ์ทางจิตที่ประณีตและล้ำลึก ย่อมต้องอาศัยความ ล้ำลึกและประณีตเช่นเดียวกันของปัญญาหรือปรัชญาและศาสนา มาใช้ในการตีความ หรือพิจารณานั้นๆด้วย ดังเช่นปริศนาธรรมในศาสนา ล้วนเป็นปรัชญาแทบทั้งนั้น ซึ่งแน่นอน! การตีความย่อมมีระดับความล้ำลึกประณีตต่างกันไปตามระดับของ ปัญญาของผู้พิจารณานั้นๆ ดังนั้นการคาดหวังที่จะเห็นข้อสรุปของการ พิจารณาให้เป็นเช่นเดียวกันจากทุกคนจึงเป็นไปไม่ได้ เพราะปัญญาของคนเราล้วนเป็นแยกได้สองประเด็นทั้งสิ้น กล่าวคือ ซึ่งประเด็นแรกเป็นปัญญาที่ได้มาจากประสบการณ์บนสัญชาติญาณ ส่วนประเด็นที่สองเป็นการได้มาจาก วัฒนธรรมความเชื่อและจากความรู้ หรือวิทยาศาสตร์ที่สะสมเป็นความทรงจำ ไล่ขึ้นมาตามช่วงเวลาและความก้าวหน้าของความรู้ความเชื่อนั้นๆ

ดังนั้นจึงเป็นได้ที่ความเห็นของคนเราอาศัยการรับรู้มาจากสองประเด็นทั้งสองนั้น ปัญญาดังกล่าวเป็นไปในทำนองเดียวกันทุกประการ ยกเว้นสำหรับน้อยคนยิ่งนักที่สามารถมีปัญญาระดับพิเศษ นั่นคือ ปัญญาที่ได้มาจากการปฏิบัติจิตปฏิบัติสมาธิ อย่างไรก็ตาม น่าจะต้องเชื่อได้ว่ามันมีปัญญาอีกระดับหนึ่งที่อยู่ก่อนหน้าระดับพิเศษนั้น นั่นคือปัญญาของนักปรัชญา หรือกวีเอกยอดศิลปิน รวมทั้งนักฟิสิกส์วิทยาศาสตร์ผู้คร่ำเคร่งอยู่กับ จินตนาการ ดังที่ไอน์สไตน์ และ ต่อมาวูลฟ์กัง พอลี (นักวิทยาศาสตร์) ที่พูดเอาไว้มีใจความคล้ายๆกันว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่ผลักดันในนักวิทยาศาสตร์เป็นนักวิทยาศาสตร์ ที่แท้จริงมีเพียงประการเดียว นั่นคือ “จินตนาการ” ดังนั้นเองจึงมีแต่นักปรัชญา หรือกวีชั้นยอดด้วยกันที่เข้าใจ “ความตายของนิรันดร” หรือนักฟิสิกส์ระดับเดียวกันที่เข้าใจ “ความว่างของความเต็ม หรือ ความเต็มของความว่าง” และเช่นเดียวกัน ผู้ที่ปฏิบัติจิตด้วยกันที่เราสามารถเข้าใจถึง “ความสงบของจิต ความว่างของจิต” ได้ด้วยเช่นเดียวกัน

การพิจารณาเพื่อตีความหมายของประสบการณ์ โดยเฉพาะ หลักหรือทฤษฎีปรัชญา และศาสนาในอดีต โดยคนทั่วไปที่เป็นคนธรรมดาในยุคสมัยต่อๆมา จึงเห็นแตกต่างกันไปตามพื้นฐานของข้อมูลของความรู้ของตนแต่ละคนนั้นๆ การตีความหมายจึงมีแต่การโต้แย้งกันในทุกประเด็น ทั้งนี้ก็เพราะ วัฒนธรรมความเชื่อและความหลากหลายกับความก้าวหน้าทางวิชาการที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามวันและกาลเวลา ทุกวันนี้ทางตะวันตกจึงได้มีการเอาปรัชญาในยุคของกรีกมารื้อฟื้น และนำมาปรับแปรใหม่จากการเทียบเคียงกับความรู้ใหม่ๆ ที่ก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะในด้านของฟิสิกส์ทฤษฎีและชีววิทยาใหม่ นั่นเป็นเช่นเดียวกับที่นักฟิสิกส์แควนตัมในอดีตเมื่อ ไม่นานมานี้ ที่ได้พบความแนบขนานสอดคล้องกัน ระหว่างวิทยาศาสตร์ใหม่ กับ ศาสนาที่อุบัติขึ้นมาจากทางตะวันออก เช่น ศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ เต๋า และศาสนาอื่นๆ เมื่อหลายทศวรรษก่อน หลังจากนั้นความรู้ใหม่ที่เป็นความจริงใหม่นี้ ก็ได้กลายเป็นวิสัยทัศน์ที่เป็นพื้นฐาน ของกระบวนทัศน์ใหม่ทางสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป เปลี่ยนจากกระบวนทัศน์เก่าเดิม ที่เน้นความจริงทางกายภาพบนหลักการแยกส่วน สู่กระบวนทัศน์องค์รวม หรือกระบวนทัศน์ทางจิตวิญญาณ ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนามากๆ แล้วอย่างรวดเร็ว

ด้วยมิติใหม่ทางวิชาการเช่นนั้นเอง ที่ทำให้นักคิด นักค้นคว้าในระยะหลังๆมานี้ พากันหวนกลับไปค้นคว้ารื้อฟื้นปรัชญาเก่าๆ และความรู้เดิมๆ ของอดีตที่ถูกหลงลืมทิ้งไป หรือไม่เข้าใจกลับมาศึกษาใหม่เป็นโครงการรายวิชาในสถาบันของมหาวิทยาลัย และพบว่า มีหลายอย่างหลายประการเหลือเกินที่ความรู้ และข้อมูลเก่าเดิมเหล่านั้น ได้เป็นส่วนอย่างยิ่งที่สำคัญต่อความคิด ว่าด้วยทิศทางและเป้าหมายของการสร้างสรรค์ หลักการของการดำรงอยู่ของ จิตปัญญา หรือ จิตวิญญาณสูงสุด ซึ่งก็คือ ที่มาของพระเจ้าในความเชื่อของมนุษย์เรานั่นเอง

กล่าวเอาไว้ว่า “จิตวิญญาณ” คือความจริงแท้พื้นฐานของธรรมชาติที่เปี่ยมไปด้วย ศักยภาพของความเป็นชีวิต และคือ ตรรกะอันบริสุทธิ์ที่มีหนึ่งเดียว ส่วนจิตวิญญาณที่อยู่ในทุกชีวิตหรือตัวตน เป็นส่วนหนึ่งของความจริงที่บริสุทธินั้น เมื่อคนเราตายไป ส่วนสำคัญของจิตวิญญาณตัวตนที่ว่านั้น จะกลับไปรวมกับความจริงที่ยิ่งใหญ่ อันเป็นสากลหนึ่งเดียวนั้น นี่คือแนวคิดของ อริสโตเติล (นักปรัชญาสมัยกรีก)นั้นคือ ผู้ที่นักวิทยาศาสตร์กายภาพยอมรับว่าเป็น “บิดาแห่งความรู้วิทยาศาสตร์” ทั้งนี้ก็เพราะว่า อริสโตเติล เป็นผู้ยึดมั่นต่อเหตุผล เชื่อมั่นต่อความเป็นระบบ และนำความเป็นเหตุปัจจัยระหว่างกันและความเป็นระบบนั้นๆ มาเป็นประเด็นหลัก ในการอธิบายข้อสังเกตและการทดลองของเขา แต่ไม่ค่อยมีนักวิชาการ หรือนักวิทยาศาสตร์ผู้ใดสนใจที่จะหยิบยกเอาหลักปรัชญาที่เป็นประสบการณ์ทาง “จิต” หรือด้านของความรู้เร้นลับต่อความจริงอันสากล รวมทั้งเนื้อหาที่ว่าด้วยจิตวิญญาณที่อธิบายธรรมชาติในสรรพสิ่งมาศึกษาค้นคว้ากัน

จนกระทั่งมาถึงทุกวันนี้เท่านั้น เมื่อความคิดดังกล่าวถูกนำมาพิจารณาใหม่ และพบว่า สอดคล้องกับกลไกของกระบวนการชีววิวัฒนาการทางด้านฟิสิกส์เคมีอย่างน่าสนใจยิ่ง ความก้าวหน้าใหม่ๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์สสาร และจิตวิญญาณ (God in Nature) ซึ่งก็คือ จิตวิญญาณสูงสุดนั้น มีมาตั้งแต่เดิม ตั้งแต่เริ่มต้นของจักรวาล สิ่งที่ผลักดัน วิวัฒนาการสู่ชีวิตเป็นเรื่องที่ต้องเป็นเช่นนั้นมาแต่ต้น ด้วยแม่พิมพ์ที่เรียกว่ารูปแห่งชีวิตที่ซ่อนตัวเองอยู่ภายในวิวัฒนาการทั้งหมดของมนุษย์ ไม่ได้เกิดขึ้นจากกลไกภายนอก หรือความบังเอิญ ทุกสิ่งมีทิศทาง มีเป้าหมายตั้งแต่ต้น... แต่จากภายในของมนุษย์เรานี้เอง และในฐานะที่มนุษย์เราอยู่ร่วมกันเป็นประชาคมด้วยสังคมศาสตร์ จึงต้องมีที่มาที่ไป ที่จะกล่าวต่อไปในเรื่องของประวัติศาสตร์มนุษย์ในบทต่อไปนี้

0 Comments:

Please Comments

Sponsored Links

Thaifossil.com      ”ของแปลกของหายาก      Menu Domain      Thai Cosmic

Text Link Ads