Tuesday, August 7, 2007

มูลเหตุของการเกิดศรัทธาและศาสนา


การถือกำเนิดของศาสนา หรือพูดของในแง่ทางการ กล่าวคือ “ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า” ในระยะเริ่มแรกนั้น เกิดจากความไม่รู้ของมนุษย์ที่มีต่อปรากฏการณ์ธรรมชาติ กล่าวคือ มนุษย์ได้ประสบกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ และปรากฎการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับชีวิต เช่น ความมืด ความสว่าง น้ำท่วม พายุ ฝนตก ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า แผ่นดินไหว ไฟป่า น้ำท่วม กลางวัน กลางคืน การเกิด การตาย เป็นต้น อีกทั้งขอบเขตของความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและปรากฏการณ์ต่างๆที่มีจำกัด ทำให้มนุษย์ในสมัยดึกดำบรรพ์ไม่สามารถอธิบายสาเหตุที่แท้จริงอันอยู่เบื้องหลังของภัยธรรมชาติเหล่านั้นได้ ดังนั้นมนุษย์จึงมองว่าปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งน่าหวาดกลัว ทรงอานุภาพ ลึกลับ และมหัศจรรย์

จากความไม่เข้าใจในธรรมชาติและความกลัว ทำให้มนุษย์เชื่อว่ามีบางสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ เช่น เทพเจ้า ภูตผี วิญญาณ เป็นผู้ดลบันดาลให้ปรากฏการณ์ธรรมชาติเกิดขึ้น ดังนั้น มนุษย์จึงแสวงหา วิธีการที่จะคุ้มครองให้ตน อยู่อย่างเป็นสุข โดยสร้างวัฒนธรรม หรือจัดพิธีบูชาและเซ่นสรวงเทพเจ้าขึ้น โดยพิธีกรรมเหล่านั้นได้แก่ การบูชายัญ การสวดวิงวอน สวดสรรเสริญ เป็นต้น เพื่อเป็นการแสดง ความเคารพนับถือ และเอาใจเทพเจ้า แนวความคิดขั้นพื้นฐานที่ใช้อธิบายความเป็นไปทั้งหลายนี้ก็จัดว่าง่ายมากขึ้น เนื่องจากพลังสำคัญๆ ทางธรรมชาติจะถูกจินตนาการและปฏิบัติต่อเสมือนหนึ่งเป็นมนุษย์ แต่ทรงพลังอำนาจที่ยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์ รวมทั้งอำนาจแห่งความเป็นอมตะ อำนาจที่ได้ถูกจินตนาการให้มีตัวมีตนขึ้นมา หรืออีกนัยหนึ่ง คือ เทพเจ้าได้เข้ามามีบทบาท มีส่วนร่วมอยู่ในสังคมการเมืองของมนุษย์เข้าแล้ว

จะเห็นได้ว่า การที่มนุษย์ยอมรับสิ่งเหนือธรรมชาติ หรือเทพเจ้า ก็เพราะมนุษย์ต้องการความอบอุ่นใจ หรือต้องการหาที่พึ่ง ซึ่งการมีที่พึ่งทำให้มนุษย์ไม่รู้สึกอ้างว้างโดดเดี่ยว หรือเมื่อต้องการพ้นภัยก็จะอ้อนวอนร้องขอจากเทพเจ้า หรือหากเทพเจ้าพึงพอใจกับพิธีบูชาแล้วก็ย่อมจะอำนวยสภาพแวดล้อม ที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ แต่ในทางตรงกันข้าม หากเทพเจ้าไม่พอใจก็อาจดลบันดาลให้เกิดภัยพิบัติให้แก่มนุษย์ได้เช่นกัน จากความเชื่อของกลุ่มคน ขนบธรรมเนียมประเพณีและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ จึงค่อยๆ วิวัฒนาการเรื่อยมา จนกระทั่งกลายเป็นลัทธิ และศาสนาต่างๆ มีผู้เสนอว่า ศรัทธา หรือความเชื่อนับเป็นจุดเริ่มต้นทางศาสนาทั้งปวง ซึ่งศรัทธาในทางศาสนานั้นมีอยู่สองประเภท ได้แก่ ศรัทธาอันเป็นญาณสัมปยุต คือ ความเชื่อที่ประกอบด้วยปัญญา รู้เหตุ รู้ผล และศรัทธาอันเป็นญาณวิปปยุต คือ ความเชื่ออันเกิดจากความไม่รู้เหตุไม่รู้ผล หากจะแยกให้เห็นมูลเหตุของศาสนาตามวิวัฒนาการทางความคิดของมนุษย์ ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบันสามารถแยกได้ดังนี้ คือ

๑. เกิดจากอวิชชา : อวิชชา คือ ความไม่รู้ พูดภาษาชาวบ้านว่า โง่! ในที่นี้ได้แก่ความไม่รู้เหตุรู้ผล เริ่มแต่ความไม่รู้เหตุผลทางภูมิศาสตร์ ทางดาราศาสตร์ ไม่รู้ชีววิทยา และไม่รู้จักธรรมชาติอื่นๆ ที่อยู่รอบตัวเรา เมื่อมีความไม่รู้เหตุผลก็เกิดความกลัวในพลังทางธรรมชาติ ต้องการความช่วยเหลือจากธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งมีอำนาจเหนือตน จึงมีการสร้างขนบธรรมเนียมประเพณี เพื่อบูชาเอาใจสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น เพื่อที่จะสามารถช่วยให้มนุษย์มีความอยู่รอดไม่มีภัยต่อๆไป

๒. เกิดจากความกลัว : มนุษย์จะอยู่ในโลกได้ต้องมีหน้าที่ คือ การต่อสู้กับธรรมชาติ และสู้สัตว์ร้ายนานาชนิดและโดยเฉพาะกับมนุษย์ด้วยกันเอง ยามใดที่เราสามารถเอาชนะธรรมชาติหรือคนได้ ความเกรงกลัวธรรมชาติ สัตว์ร้าย หรือมนุษย์ย่อมไม่มี แต่ถ้าไม่สามารถต่อสู้ได้ มนุษย์จะเกิดความกลัวต่อสิ่งเหล่านั้น และในยามนั้นเอง ที่มนุษย์ต้องพากันกราบไหว้บูชา และแสดงความจงรักภักดี ทำพิธีสังเวยเซ่นไหว้ต่อธรรมชาติดังกล่าว ด้วยความหวังหรืออ้อนวอนขอให้สำเร็จตามความปรารถนาอันเป็นผลตอบแทนขึ้นมาเป็นความสุขความปลอดภัย และอยู่ได้ในโลก

๓. เกิดจากความจงรักภักดี : ความจงรักภักดีเป็นศรัทธาครั้งแรกที่มนุษย์ทุกยุคทุกสมัยยอมเชื่อว่า เป็นกำลังก่อให้เกิดความสำเร็จได้ทุกเมื่อ ในกลุ่มศาสนาที่นับถือพระเจ้า เช่น (ศาสนายิว ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม แม้แต่ศาสนาพุทธ) มุ่งเอาความภักดีต่อพระเจ้าเป็นหลักใหญ่ในศาสนา ในกลุ่มชาวอารยันมีศาสนาพราหมณ์ (ฮินดู) มีคำสอนถึงภักติมรรค คือ ทางแห่งความภักดี อันจะยังบุคคลให้ถึงโมกษะ คือหลุดพ้นได้ แม้ในทางพระพุทธศาสนาก็ยอมรับว่าศรัทธา หรือความเชื่อ ความเลื่อมใสเท่านั้นที่จะพาข้ามโอฆสงสารได้ เมื่อเป็นดังนี้แสดงว่ามนุษย์ยอมตนให้อยู่ใต้อำนาจของธรรมชาติเหนือตน อันเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเองซึ่งเรียกว่าเทพเจ้า หรือพระเจ้า อย่างไรก็ตาม ผลที่เกิดตามมาคือมนุษย์ยอมให้เครื่องเซ่นสังเวยแก่ธรรมชาตินั้นๆ ด้วย ลักษณะนี้จึงเท่ากับมนุษย์เสียความเป็นใหญ่ในตน ยอมอยู่ใต้อำนาจของสิ่งที่ตนคิดว่ามีอำนาจเหนือตน

๔. เกิดจากปัญญา : ศรัทธาอันเกิดจากปัญญาคือมูลเหตุให้เกิดศาสนาอีกทางหนึ่ง แต่ศาสนาประเภทนี้มักเป็นฝ่ายอเทวนิยม คือไม่สอนเรื่องเทพเจ้าสร้างโลก ไม่ถือเทพเจ้าเป็นศูนย์กลางแห่งศาสนา หากแต่ถือความรู้ประจักษ์จริงเป็นสำคัญ เช่น พระพุทธศาสนา ความเน้นหนักของพระพุทธศาสนา คือ ญาณ หรือปัญญาชั้นสูงสุดที่ทำให้รู้แจ้งประจักษ์ความจริง และหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง

๕. เกิดจากอิทธิพลของบุคคลสำคัญ : ศาสนาหรือลัทธิที่เกิดจากความสำคัญของบุคคลเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทุกแห่งหน ที่มีเรื่องราว หรือความสำคัญของบุคคลที่อยู่ ณ. ที่นั้น ความสำคัญของบุคคลที่เป็นเหตุเริ่มต้นของศาสนา หรือลัทธิ โดยมากมักมีเหตุเริ่มต้นโดยความบริสุทธิ์จากจิตใจของมนุษย์ ไม่มีใครบังคับ ไม่มีใครวางหลัก อีกทั้งเมื่อใครนับถือความสำคัญของบุคคลผู้ใดก็จะพากันกราบไหว้ และเคารพบูชา

๖. เกิดจากลัทธิการเมือง : ลัทธิการเมืองอันเป็นมูลเหตุของศาสนาเป็นเรื่องสมัยใหม่ อันสืบเนื่องจากการที่ลัทธิการเมืองเฟื่องฟูขึ้นมา และลัทธิการเมืองนั้นได้เข้าไปมีอิทธิพลต่อคนบางกลุ่ม เป็นต้นว่า กลุ่มคนยากจน ซึ่งคนเหล่านั้นก็ได้ละทิ้งศาสนาเดิมที่ตนเองนับถืออยู่แล้วหันมานับถือลัทธิการเมืองดังกล่าวเป็นศาสนาประจำสังคม หรือชาตินิยมลัทธิการเมือง เป็นต้นว่า ลัทธินาซี ลัทธิฟาสซิสม์ และลัทธิคอมมิวนิสต์ เป็นต้น

เมื่อเกิดศาสนาหรือความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้ามา สิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ เกิดเทพนิยายต่างๆนาๆ ตามมา ทั้งนี้ก็เพราะว่าสิ่งใดที่มนุษย์ในยุคบรรพบุรุษเราไม่สามารถจะแสดงออกมาได้อย่างเป็นที่พึงพอใจโดยอาศัยคำพูด สิ่งนั้นมนุษย์ก็พยายามระบายออกมาโดยอาศัยความคิดคำนึงทางเทพนิยาย ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้เกิดจินตนาการเรื่อง อวตาร ซึ่งแปลว่า “การก้าวลงมาเกิด การข้ามลงมาเกิด หรือการแบ่งภาคลงมาเกิด” เทพเจ้าแต่ละองค์จะมีธรรมชาติแห่งบุคลิกและอุปนิสัยใจคอเยี่ยงปุถุชนอย่างพร้อมมูล อันข้อคิดเรื่องเทพเจ้าแปลงกายลงมาประกอบกรณียกิจบนพื้นโลกนี้มีมาแต่บรรพกาลคือ ตั้งแต่ยุคคัมภีร์พระเวทแล้วทีเดียว ครั้นตกมาถึงยุคคัมภีร์ปุราณและคัมภีร์อุปปุราณ (เป็นคัมภีร์เก่าแก่ของศาสนาฮินดู) ข้อคิดอันนี้ก็ได้รับการพัฒนาให้งอกงามแผ่ไพศาลยิ่งขึ้น คำว่า “นารายณ์” แปลว่า ผู้ที่มีน้ำเป็นที่เคลื่อนไหว นารายณ์เป็นนามหนึ่งของพระวิษณุ ซึ่งมีอยู่ประมาณพันชื่อ เพราะฉะนั้น “นารายณ์สิบปาง” (ผู้อ่านคงเคยได้ยินมาบ้าง) จึงแปลว่า พระวิษณุนารายณ์อวตารหรือแบ่งภาคลงมาเกิดสิบยุคหรือสิบปาง ซึ่งมีลำดับตามพระคัมภีร์ ดังต่อไปนี้

ครั้งที่หนึ่ง “มัตสยาวตาร” ได้แก่อวตารเป็นปลา
ครั้งที่สอง “กูรมาวตาร” ได้แก่อวตารเป็นเต่า
ครั้งที่สาม “วราหาวตาร” ได้แก่อวตารเป็นหมู
ครั้งที่สี่ “นรสิงหาวตาร” ได้แก่อวตารเป็นนรสิงห์ (ครึ่งคนครึ่งสิงห์)
ครั้งที่ห้า “วามนาวตาร” ได้แก่อวตารเป็นคนแคระ (คนยังไม่สมบูรณ์)
ครั้งที่หก “ปรศุรามาวตาร” ได้แก่อวตารเป็นปรศุราม (คนป่าหรือคนถือขวาน)
ครั้งที่เจ็ด “รามาวตาร” ได้แก่อวตารเป็นพระราม
ครั้งที่แปด “กฤษณาวตาร” ได้แก่อวตารเป็นพระกฤษณะ
ครั้งที่เก้า “พุทธาวตาร” ได้แก่อวตารเป็นพระพุทธเจ้า
ครั้งที่สิบ “กัลกิยาวตาร” ได้แก่อวตารเป็นพระกัลกี (บุรุษผู้ขี่ม้าขาว)

นี่เป็นคัมภีร์ของศาสนาของฮินดู กล่าวว่า ตั้งแต่โลกได้อุบัติขึ้นจนตราบถึงทุกวันนี้ พระนารายณ์ได้อวตารมาแล้วถึงเก้าปางคือ “ปางที่สิ้นสุดด้วยพระพุทธเจ้า” ปางสุดท้ายคือปางที่สิบ “กัลกิยาวตาร” จะอุบัติขึ้นในเมื่อถึง กลียุค คือ ยุคปัจจุบันถึงกาลอวสานลง ในปางที่สิบนี้พระวิษณุจะเสด็จมาบนหลังม้าขาว “พระหัตถ์ถือพระแสงดาบซึ่งส่องแสงวาววาบประดุจดวงดาวหาง” พระองค์จะทรงปราบความชั่วร้ายในโลกแล้วสร้างพิภพแห่งความบริสุทธิ์ผุดผ่องขึ้นใหม่ (ตามพระคัมภีร์)

เรื่องอวตารหรือพระผู้เป็นเจ้าแบ่งภาคลงมาเกิดในโลกมนุษย์นี้ ในแง่ของสังคมวิทยา ปราชญ์ผู้รู้มีความเห็นว่า เป็นเรื่องวิวัฒนาการของมนุษย์ที่ท่านนำมาสอนคนให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ของสังคมในสมัยนั้น เราจะเห็นได้ว่า ลำดับที่พระผู้เป็นเจ้าแบ่งภาคลงมาเกิดในมนุษย์โลกตามเทพนิยายของชาวฮินดูนั้น เริ่มต้นด้วยการกำเนิดเป็นปลา เป็นเต่า กล่าวคือ สัตว์ในน้ำก่อน แล้วจึงวิวัฒนาการมาเป็นหมู กล่าวคือสัตว์บก ต่อมาเป็นครึ่งคนครึ่งสัตว์ (ปางที่สี่) ตามลำดับ ต่อมาจึงเป็นคนที่ยังไม่สมบูรณ์ (ปางที่ห้า) แล้วก็เป็นคนป่าถือขวาน (ปางที่หก) ในที่สุดจึงเป็นคนที่เจริญแล้ว เป็นลูกตัวอย่างเป็นสามีอันเป็นแบบฉบับ เป็นผู้นำและเป็นกษัตริย์อุดมทรรศนะ (กล่าวคือพระรามในเรื่องรามเกียรติ์) ต่อมาก็พัฒนายิ่งขึ้นไป เป็นครูบาอาจารย์สอนคน (กล่าวคือพระกฤษณะและพระพุทธเจ้า) ตามลำดับ สารบัญชีแห่งการอวตารมาเกิดเป็นขั้นๆ ไปเช่นนี้ หากจะพิจารณากันโดยใช้หลักใหญ่เข้าประกอบแล้วก็คงจะเห็นได้ว่าไม่สู้จะห่างไกลจากหลักวิวัฒนาการ หรือทฤษฎีวิวัฒนาการ (Evolution Theory) ของชาร์ล ดาร์วิน (Charles Darwin) ของโลกเรานี้เท่าไรนัก

เรื่องยุคต่างๆ ก็มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับเรื่องอวตารมาเกิด ที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ คือ คัมภีร์ปุราณของชาวฮินดูกำหนดเวลาของโลกไว้ว่ามีสี่ยุคด้วยกัน คือ

- ยุคที่หนึ่งมีชื่อว่า “กฤตยุค” มีระยะเวลา ๔,๘๐๐ ปีเทวดา ในยุคนี้โลกมีสุขสันต์เพราะมีธรรมะครองโลก อยู่อย่างสมบูรณ์
- ยุคที่สองมีชื่อว่า “เตรตายุค” หรือไตรดายุค มีระยะเวลา ๓,๖๐๐ ปีเทวดา
- ยุคที่สามมีชื่อว่า “ทวาปรยุค” มีระยะเวลา ๒,๔๐๐ ปีเทวดา
- ยุคที่สี่มีชื่อว่า “กลียุค” มีระยะเวลา ๑,๒๐๐ ปีเทวดา

*(หนึ่งปีของเทวดานั้นในพระคัมภีร์กล่าวไว้ว่าเท่ากับ ๓๖๐ ปี ในโลกมนุษย์)

สิ่งที่หน้าสังเกตว่าแต่ละยุคมีระยะเวลาลดน้อยลงยุคละ ๑,๒๐๐ ปี หรือหนึ่งในสี่ของระยะเวลา ในยุคที่หนึ่ง ธรรมะซึ่งครองโลกก็ลดน้อยถอยลงในอัตราเดียวกันนี้ด้วย ดังนั้น เมื่อถึง “กลียุค” อันเป็นยุคปัจจุบันของเรานี้ จึงมีธรรมะเหลืออยู่ในโลกเพียงหนึ่งในสี่ส่วนของปริมาณเดิมในกฤตยุคเท่านั้นเอง ยุคทั้งสี่นี้เมื่อรวมกันเข้าแล้วเป็นหนึ่งมหายุคหรือหนึ่งมนวันดร และ ๒,๐๐๐ มหายุค หรือมนวันดรนี้จะเป็น หนึ่งกัลป์ ตามศัพท์ในพระคัมภีร์ของฮินดู เมื่อสิ้นหนึ่งกัลป์ โลกก็จะถึงซึ่งกาลาวสานครั้งสำคัญ ครั้นแล้วการสร้างสรรค์โลกจึงจะบังเกิดขึ้นใหม่อีกเพื่อรับการอวสานอีก หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้โดยไม่หยุดยั้ง นี่เป็นการกล่าวตามคัมภีร์ปุราณของศาสนาชาวฮินดู ซึ่งผู้เขียนยกขึ้นมาเพื่อให้ขบคิดกัน (ส่วนหนึ่งที่มา : ภารตวิทยา / กรุณา -เรืองอุไร กุศลาสัย รวบรวมและเรียบเรียง)

ดังที่กล่าวมาแล้วว่าในยุคปัจจุบันนี้เป็นยุคของ “กลียุค” ตามพระคัมภีร์ปุราณ เป็นยุคที่ธรรมะซึ่งครองโลกลดน้อยถอยลงเหลืออยู่ในโลกเพียงหนึ่งในสี่ส่วนของปริมาณเดิม บางท่านอาจสงสัยว่าปัจจุบันนี้ก็ยังมีธรรมะอยู่นี่ แต่ปัจจุบันนี้เป็นธรรมะที่บริสุทธ์เหมือนดังสมัยยุคบรรพบุรุษเรานั้นยังมีเหลืออยู่เท่าไรกัน หรืออาจจะกล่าวได้ว่ายุคปัจจุบันนี้อาจเป็นยุคของการ “บริโภคนิยม” แล้วก็ได้ ดังจะกล่าวต่อไป

0 Comments:

Please Comments

Sponsored Links

Thaifossil.com      ”ของแปลกของหายาก      Menu Domain      Thai Cosmic

Text Link Ads