Tuesday, August 7, 2007

สังคมที่มั่งคั่งในยุคบริโภค หรือ จิตใจที่มั่งคั่งในยุคบริโภค


สังคมปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะ สังคมเมืองที่มีทุกสิ่งทุกอย่างมากกว่าปัจจัยสี่ในเบื้องต้นนี้ ที่ไม่สามารถใช้ได้แล้วในยุคปัจจุบัน ถึงจะเป็นสังคมนอกเมืองก็ตามที ก็นับว่าน้อยลงเต็มทีที่จะสามารถอยู่ได้ด้วยปัจจัยสี่ (ที่อยู่อาศัย , อาหาร , เครื่องนุ่งห่ม , ยารักษาโรค) ในสังคมเมืองทั่วโลกซึ่งมีความมั่งคั่ง มีความทันสมัย และมีความสะดวกสบาย รวมถึงอาหารการกินที่ดีกว่าแต่สมัยก่อนมาก แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าแปลก และเป็นที่น่าสังเกตอยู่มากที่ว่า ความสะดวกสบายทางกาย กับ ความสบายใจทางใจ กับเดินสวนกะแสกันไปคนละทาง มองในแง่หนึ่ง ดังที่ท่าน พระไพศาล วิสาโล ท่านเคยพูดกล่าวเอาไว้ว่า นี่คือ “ความรู้สึกพร่อง” คนเรายิ่งรู้สึกพร่องก็ยิ่งอยากหาอะไรมาเติมให้เต็ม ความรู้สึกพร่องดังกล่าวนี้กำลังเป็นความรู้สึกร่วมสมัยของคนในยุคนี้ ปัญหาหลักก็คือ ไม่ว่าเราจะมีมากมายเพียงใดเราก็ไม่รู้จักพอเพียง เราจึงต้องแสวงหาสิ่งต่างๆ มาเติมให้เต็ม อย่างไรก็ตามค่านิยมการแสวงหาสิ่งที่มาเติมให้เต็มนี้ไม่มีวันที่จะช่วยให้เรามีความรู้สึกพอหรือเต็มได้เลย แต่กลับตรงกันข้าม กลับทำให้เรามีความรู้สึกพร่องอยู่เสมอ

อะไรล่ะ เป็นปัจจัยต่อคนเรานี้ที่ทำให้ตัวเรามีความรู้สึกพร่องอยู่เสมอ ท่าน พระไพศาล วิสาโล ยังกล่าวอีกว่า “คนสมัยอดีตกาล ความรู้สึกพร่องนี้เกิดจาก อำนาจของตัวบุคคล ความแข็งแกร่งกว่าของตัวบุคคล ความแข็งแกร่งและอำนาจสามารถทำให้บุคคลอื่นเกิดความรู้สึกพร่องได้ และเป็นฝ่ายตามหรือเชื่อฟังหัวหน้าเผ่าแต่โดยดี แต่ปัจจุบันนี้ ได้เกิดปัจจัยสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่มากกว่าสมัยอดีตกาล คือ “วัตถุนิยม” จริงอยู่ที่ว่า ถึงปัจจุบันนี่ก็เช่นกันที่ยังมีเรื่องของอำนาจความแข็งแกร่งอยู่บ้าง แต่ก็มิใช่ประเด็นที่ผมจะกล่าวถึง สิ่งที่ผมจะกล่าวถึงนี้มันมีอิทธิพลกับจิตใจคนเราเป็นอย่างมาก ที่ทำให้คนเรามีความรู้สึกพร่องอยู่เสมอ ค่านิยมทางวัตถุนิยมนี้ที่แพร่หลายไปทั่วโลก เป็นสิ่งที่กระตุ้นความรู้สึกอยากอยู่เสมอ หรือต้องการอยู่เสมอ สินค้าต่างๆ ที่ออกกันมาอย่างชนิดที่ตามไม่ทัน ใครที่ตามไม่ทันกลับกลายเป็นเรื่องของความไม่ทันสมัย การไม่อินเทรนไป และเป็นสิ่งที่แน่นอนที่ว่า สิ่งหนึ่งที่กระตุ้นความรู้สึกพร่องให้รุนแรงขึ้นก็คือ “สื่อโฆษณา” สื่อโฆษณาต่างๆ จะใช้เทคนิคอันหลากหลายและวิธีการ ไม่ว่าจะหลากหลายหรือวิธีการใดๆ ก็ตาม แต่จุดมุ่งหมายเพรียงแต่อย่างเดียวคือ การกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกอยากขึ้นมาต่อคนดู หรือเกิดภาพฝันขึ้นต่อคนดู ยิ่งกระตุ้นให้เกิดภาพฝันต่อคนดูไกลมากเท่าไร เราก็ยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกพร่องมากขึ้น ดังนั้น สื่อโฆษณาจึงไม่เพียงแต่วาดภาพฝันให้งดงามหรูเลิศเท่านั้น หากยังกดสภาพความเป็นจริงของเราให้ดูแย่ลง หรือทำให้เรา (ผู้ชม) รู้สึกไม่ดีกับสภาพความเป็นจริงของตัวเอง” มันก็เป็นเรื่องที่น่าคิดอยู่เหมือนกันสำหรับผมเอง ซึ่งปัจจุบันนี้ทุกคนดูเหมือนว่าจะมีความรู้ดี และฉลาดมากกว่าแต่คนสมัยอดีต แต่ผมก็ชักไม่แน่ใจแล้วเหมือนกันว่า ความทันสมัยอินเทรน กับ ความไม่ฉลาด และ...ความไม่ทันสมัยไม่อินเทรน กับ ความฉลาด
เราจะมีมุมมองอย่างไร และจะเลือกอย่างไรดี ดังจะเห็นได้ว่าสื่อโฆษณาส่วนใหญ่มักจะเน้นคุณสมบัติของสินค้าน้อยกว่าภาพลักษณ์ของสินค้า เช่น การสวมใส่เสื้อผ้าอันเบาบาง และไม่รัดกุม กับ สัญญาลักษณ์ตรายี่ห้อของสินค้า อย่างไหนมีความสำคัญมากกว่ากัน เสื้อผ้าเป็นอะไรมิได้มากไปกว่าเพื่อการสวมใส่เพื่อปกปิดร่างกาย รองเท้าเป็นอะไรไปมิได้มากกว่าปกป้องเท้าของเรามิให้บาดเจ็บ รถยนต์เป็นอะไรไปมิได้มากไปกว่าใช้ในการเดินทาง ทุกสิ่งทุกอย่างส่วนใหญ่มักจะเน้นที่ภาพลักษณ์ของสินค้ามากขึ้น ซึ่งสื่อโฆษณาได้ประทับไว้ในจิตใจเรา หรือในจิตสำนึกเราไปแล้ว ความสัมพันธ์กันระหว่างผู้บริโภคและตัวสินค้าได้รับการก่อรูปขึ้นมา ส่วนใหญ่แล้วโดยจินตนาการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดัดแปลงได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ความรู้สึกและความหมายเป็นได้ทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ไม่คงที่ ลักษณะรูปธรรมที่ดัดแปลงได้ง่ายอันนี้ ทำให้มันล้าสมัยได้รวดเร็วเช่นกัน ซึ่งความจริง เป็นความจงใจให้มันล้าสมัย เพื่อผลให้เกิดการบริโภคอยู่ตลอดเวลา และสิ่งเหล่านี้สามารถที่จะถูกนำมาตักตวงผลประโยชน์โดยบรรดานักออกแบบทั้งหลายด้วยวิธีการอันหลากหลายไม่มีสิ้นสุด ตามความเป็นจริงแล้ว จินตนาการเป็นเชื้อเพลิงที่ไม่มีวันหมดสำหรับการคงไว้ซึ่งการเจริญเติบโตของสินค้าและบริการ

ผู้อ่านคงจะสังเกตเห็นได้บ้างไม่มากก็น้อย ที่ปัจจุบันเรานี้มีความทันสมัยเจริญมากขึ้นทางภาพนอก แต่ภาพในกลับเดินสวนทางกัน การแสวงหาสิ่งวัตถุภายนอกทำให้ภายในเรามีความสุขได้ก็จริง แต่หลายคนมิได้นึกคิดถึงไปว่า ภายนอกหรือวัตถุนิยม มิได้หยุดให้ตัวเราตามทันได้เลย จึงทำให้ตัวตนของเรามีความรู้สึกพร่องอยู่เสมอ การบริโภคสินค้าเพื่อมาโชว์นั้นเป็นลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของยุคบริโภคนิยม ดังที่ท่าน พระไพศาล วิสาโล เคยกล่าวเอาไว้อย่างน่าคิดอีกที่ว่า “ทั้งนี้เพราะจุดหมายสำคัญก็คือ การยกระดับ “ตัวตน” ของตนให้สูงขึ้นส่วนหนึ่งก็เพื่อจะได้ใกล้เคียงกับภาพฝันที่สื่อโฆษณาได้ประทับไว้ในใจเรา ยิ่งไปกว่านั้นก็คือความรู้สึกด้อยหรือไม่พอใจใน “ตัวตน” เวลานี้กำลังลุกลามไปเป็นความไม่พอใจในร่างกายของตน ลำพังการที่ “ตัวตน” กับ “หน้าตา” กลายมาเป็นเรื่องเดียวกันได้ก็นับว่าพอแรงแล้ว เพราะแต่ก่อนสิ่งที่กำหนดตัวตนของแต่ละคนนั้นไม่ได้อยู่ที่ “หน้าตา” หรือภาพลักษณ์สักเท่าไรหากขึ้นอยู่กับศาสนา เชื้อชาติ สถานะทางสังคม และที่สำคัญคือจากอาชีพการงานและการกระทำของตนเอง ใครที่อยากจะมี “ตัวตน” ที่ดีกว่าเดิม ก็สามารถจะทำได้โดยการฝึกฝนพัฒนาตน หรือแสดงความสามารถให้ประจักษ์ ในปัจจุบันเพียงแค่กินน้ำอัดลมหรือกินเหล้าบางยี่ห้อก็กลายเป็น “คนรุ่นใหม่” ได้แล้ว และสำหรับบางคน ความรู้สึกพร่องดังกล่าวอาจบรรเทาเมื่อเข้าหาศาสนามีสิ่งศักดิ์สิทธิเป็นที่ยึดเหนี่ยว หรือเป็นตัวตนให้ยึดถือ แต่สำหรับคนส่วนใหญ่ทุกวันนี้ ศาสนาไม่มีเสน่ห์ดึงดูดใจอีกแล้วเพราะเป็นนามธรรมหรือไม่สอดคล้องกับความนึกคิด ก็ในยุคที่โลกทัศน์แบบวัตถุนิยมกำลังแพร่หลายเช่นทุกวันนี้ อะไรเล่าที่ผู้คนคิดว่าสามารถยึดเหนี่ยวจิตใจหรือทำชีวิตให้เติมเต็มได้ดีไปกว่าวัตถุ ด้วยเหตุนี้เองจึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้คนต่างพากันแสวงหาวัตถุมาครอบครองไม่ใช่เพราะมันให้ความสุขสบายทางกายแต่เพราะมันให้ความอบอุ่นแก่จิตใจต่างหาก ทั้งนี้ก็ด้วยความเชื่อว่ามันจะทำให้ความรู้สึกพร่องที่แท้หมดไป ความรู้สึกพร่องที่เกิดจากช่องว่าง ระหว่างความฝันกับความเป็นจริงนั้นขอเรียกว่า ความรู้สึกพร่องเทียม เพราะเกิดจากความคิดปรุงแต่งมากกว่าอะไรอื่น”

ดังจะเห็นที่ท่าน พระไพศาล วิสาโล เขียนกล่าวเอาไว้อย่างน่าคิดทีเดียว โดยเฉพาะที่บอกไว้ว่า “ความรู้สึกพร่องเทียม” เป็นที่น่าสังเกตสำหรับผมที่ว่า ความรู้สึกพร่องเทียมนี้ เมื่อสมัยอดีตคนเราคงจะไม่มีมากเท่าสมัยนี้ คุณผู้อ่านคงจะสงสัยอยู่บ้างว่า แล้วความรู้สึกพร่องเทียมมันเป็นอย่างไร และ ความรู้สึกพร่องแท้ล่ะ มันเป็นอย่างไรกัน

คนสมัยก่อนก็จะมีความรู้สึกพร่องด้วยเช่นกัน แต่จะเป็นความรู้สึกพร่องแท้มากกว่า เช่น เรื่องของความตาย เราทุกคนรู้ว่าสักวันเราต้องตายกันทุกคน ซึ่งเป็นความรู้สึกพร่องแท้ของทุกคนที่รู้ว่าตัวเองต้องตาย และมีเพรียงศาสนาที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจเราไว้ให้ความรู้สึกพร่องแท้นั้นหายไปได้ แต่ปัจจุบันนี้ในยุคบริโภคนิยม คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยนึกถึงในเรื่องของความรู้สึกพร่องแท้มากเท่าไร คือ เรื่องของความตายที่ทุกคนต้องตายกัน แต่กลับนึกถึงในเรื่องของวัตถุ การบริโภค เป็นเรื่องสำคัญมากกว่า เห็นคนอื่นเขามีทำให้เรารู้สึกพร่อง และอยากมีบ้าง เห็นคนอื่นเขาสวย เราก็อย่างสวยบ้างจึงไปทำศัลยกรรมตกแต่งแทบจะทั่วร่างกายในบางคน เห็นคนอื่นเขาแต่งตัวทันสมัยมียี่ห้อ ทำให้เรารู้สึกพร่องอยากมีบ้างจริงไปซื้อมาสวมใส่เพื่อยกระดับตัวตนของเราให้เท่าเทียมกันหรือสูงกว่า นี่แหละคือ ความรู้สึกพร่องเทียม ที่ท่านไพศาล วิสาโล เคยกล่าวเอาไว้ และอะไรล่ะที่ทำให้ความรู้สึกของคนเราบกพร่องอยู่เสมอในยุคปัจจุบันนี้ ท่านไพศาล วิสาโล ท่านได้ใช้คำได้ที่น่าสนใจอย่างยิ่งอีกเช่นกันคือ “วัฒนธรรมความร่ำรวย” ท่านกล่าวเขียนไว้น่าคิดอีกว่า

“วัฒนธรรมความร่ำรวย วัฒนธรรมดังกล่าวถือว่าความร่ำรวยเป็นของดี และถือว่าชีวิตที่ดีคือชีวิตที่ต้องรวยขึ้น มีเงินและทรัพย์สมบัติมากขึ้น ค่านิยมภายใต้วัฒนธรรมนี้คือการอวดมั่งอวดมี และการประชันขันแข่งในเรื่องบริโภค แน่นอนว่าแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังวัฒนธรรมนี้ก็คือทัศนะแบบวัตถุนิยม ที่เห็นว่าความสุขอยู่ที่วัตถุและสิ่งเสพ ขณะเดียวกันก็มีแนวคิดเรื่องความก้าวหน้าควบคู่ไปด้วย ดังนั้นจึงทำให้เกิดความเชื่อว่าคนเราต้องแสวงหาความก้าวหน้าในชีวิตด้วยการมีทรัพย์มากขึ้น มีเงินเดือนสูงขึ้น มีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายเพิ่มขึ้น และมีสิ่งใหม่ๆ มาไว้ในครอบครองมากด้วย (โดยเฉพาะเทคโนโลยีล่าสุด) วัฒนธรรมความร่ำรวยดังกล่าวทำให้ผู้คนคิดแต่จะสะสมและแสวงหา ทำงานหาเงินไม่รู้จักหยุดหย่อนและปรารถนารายได้เพิ่มมากขึ้น แต่ได้มาเท่าไรก็ไม่รู้จักพอ เพราะยังมีสิ่งที่ต้องการอีกมากหลาย ยิ่งเห็นคนอื่นรวยกว่าตน ก็ยิ่งรู้สึกด้อย จำต้องหาดิ้นรนให้ทัดเทียมหรือล้ำหน้ายิ่งกว่า แต่ถึงจะล้ำหน้าใครต่อใคร ก็ยังมีคนอื่นที่ไปไกลกว่าตน จึงต้องขวนขวายต่อไป วัฒนธรรมความร่ำรวยจึงนำผู้คนทั้งโลกไปสู่ความทุกข์ เพราะมันทำให้คนทั้งโลกสำคัญตนว่ายากจน ไม่เว้นแม้แต่คนมั่งมี ใช่แต่เท่านั้นยังทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบและกดขี่กัน ยังผลให้มีคนจำนวนมหาศาลยากจนลง เดือดร้อนมากขึ้น แต่ไม่ว่าจะมั่งมีหรือยากจน ต่างก็กลายเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน เห็นซึ่งกันและกันเป็นเหยื่อหรือศัตรู สร้างความทุกข์แก่กันและกัน ทั้งนี้เพียงเพื่อจุดหมายประการเดียวนั่นคือความร่ำรวยมั่งคั่ง ปัจจุบันผู้คนถูกตีกรอบให้มองตนเองเป็นเพียงแค่ผู้บริโภค แม้จะทำให้ชีวิตของเราสะดวกสบายขึ้นแต่หาได้ช่วยให้มีความสุขเพิ่มขึ้นไม่ อีกทั้งบ่อยครั้งก็ไม่ได้ช่วยให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นเลย นอกจากนั้นยังกลับทำให้ชีวิตขาดความลุ่มลึก เพราะท่าทีแบบผู้บริโภคทำให้เราต้องการเพียงแค่สิ่งปรนเปรอผัสสะทั้ง ๖ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) หรือความสะดวกสบายเท่านั้น ดังนั้นความสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ จึงเป็นไปอย่างฉาบฉวยเพราะคิดแต่เรื่องกำไร ขาดทุน ได้เสีย เท่านั้น บทสรุปดังกล่าวก็คือ ลัทธิบริโภคนิยม และการมองตนเองเป็นแค่ผู้บริโภคนั้น ได้ตีกรอบความคิดและการกระทำของเราให้แคบและฉาบฉวย จนกลับมาบั่นทอนชีวิตของเราเองในที่สุด”

จะเห็นว่าท่านกล่าวไว้น่าคิดอย่างมีประโยชน์มาก ให้แง่คิดเรา ให้เราได้รู้ทันในลัทธิสังคมบริโภคนิยมนี้ อาจจะว่าไปแล้วทุกคนส่วนใหญ่ต้องการแสวงหาความมั่งคั่ง ความร่ำรวย จากภายนอกกัน แต่ความมั่งคั่งและความร่ำรวยจากภายในหามีใช้น้อย ดังที่ผมเขียนไว้ในหัวข้อบทนี้ไว้ว่า “สังคมที่มั่งคั่งในยุคบริโภค คือ สังคมที่มีความทันสมัย มีความสะดวกสะบาย และก้าวหน้าในยุคบริโภคปัจจุบันนี้ แต่...! ผมก็จงใจที่จะขีดคั่นไว้อย่างเป็นสัญวิทยา ไว้ในหัวข้อบทนี้ที่ว่า “จิตใจที่มั่งคั่งในยุคบริโภค” ที่คนส่วนใหญ่มิค่อยมีใครใส่ใจกันมากนักในยุคบริโภคปัจจุบันนี้

0 Comments:

Please Comments

Sponsored Links

Thaifossil.com      ”ของแปลกของหายาก      Menu Domain      Thai Cosmic

Text Link Ads