Tuesday, August 7, 2007

ชีวิต (it ’s my Life)


กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วมีเด็กอยู่สองจำพวกเกิดมาบนโลกสีน้ำเงินใบนี้ เด็กทั้งสองจำพวกเกิดมาเพื่อที่จะเรียนรู้โลกใบนี้จากสิ่งเร้าต่างๆ ที่เกิดขึ้น แตกต่างกันตรงที่ เด็กจำพวกแรกกำเนิดเกิดมาอยู่กับสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติมาแต่กำเนิด เด็กอีกจำพวกหนึ่ง กำเนิดมาจากสิ่งแวดล้อมตามธรรมวัตถุมาแต่กำเนิดเช่นเดียวกัน “เด็กทั้งสองจำพวกเกิดมามีสิ่งเร้าให้เรียนรู้” เด็กที่เกิดมาจากสิ่งแวดล้อมตามธรรมวัตถุจะเกิดสิ่งเร้าขึ้นจากภายนอกของความสงสัย ส่วนเด็กที่เกิดมาจากสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติจะเกิดสิ่งเร้าขึ้นจากภายในของความแปลกใจ ทัศนะคติของเด็กสองจำพวกนี้จึงต่างกัน

- เด็กที่เกิดมาจากสิ่งแวดล้อมตามธรรมวัตถุจะเกิดสิ่งเร้าจากภายนอก เกิดความสงสัยในสิ่งต่างๆที่มีต่อโลกใบนี้ว่า โลกใบนี้มีสิ่งให้เราน่าเรียนรู้อยู่ตลอดเสียเหลือเกิน มีโทรทัศน์ให้ติดตามข่าวสารได้ทั่วโลก มีสิ่งประดิษฐ์ต่างๆมากมายให้เราได้เรียนรู้ มีนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆเกิดขึ้นอยู่ตลอดให้เราอยากที่จะค้นหาและทำความรู้จักเมื่อเกิดความสงสัย เด็กจึงเกิดการเรียนรู้อยู่ตลอด

- เด็กที่เกิดมาจากสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติจะเกิดสิ่งเร้าจากภายใน เกิดความแปลกใจในสิ่งต่างๆ ที่มีต่อโลกใบนี้ว่า แปลกจริงหนอ? “ทำไมมีโลกขึ้นมาได้” โลกคืออะไร? เกิดขึ้นได้อย่างไร? มีมาจากอะไร? และมีมาเพื่ออะไร? เมื่อความแปลกใจเกิดขึ้นเด็กก็เริ่มที่จะเอาจริงเอาจังและเริ่มกระบวนการคิดอย่างมีระบบระเบียบเพื่อหาคำตอบในสิ่งที่สงสัย

นี่เป็นเพียงอุปมาอุปมัยเท่านั้น เพื่อที่ผู้อ่านพอจะแยกแยะทัศนคติของความสงสัยได้บ้างเล็กน้อย มนุษย์เราไม่ว่าจะอยู่ใดก็สามารถที่จะเรียนรู้และคิด สงสัยและแปลกใจ ได้ควบคู่กันไป แต่คนเราส่วนมากมักจะสงสัยและเรียนรู้จากภายนอกมากกว่าที่จะเรียนรู้จากภายใน เพราะปัจจุบันนี้มีสิ่งเร้าจากภายนอกมากมายจนเราลืมที่จะเรียนรู้จากภายในตัวเราเอง เราอาจจะรู้สึกตัวเองได้จากภายในก็ตอนที่เราได้อยู่คนเดียวนานๆ หรือได้ไปเที่ยวตามธรรมชาตินั้นแหละ ได้เห็นธรรมชาติหรือทิวทัศน์ที่สวยงาม เราถึงจะเกิดความแปลกใจหรือความรู้สึกลึกๆ จากภายในขึ้นมา

ชีวิตคืออะไร ชีวิตเกิดจากอะไร ชีวิตจะสิ้นสุดลงอย่างไรและเมื่อใด นั้นเป็นปัญหาที่เรามักจะขบคิดอยู่เสมอ เป็นปัญหาทางปรัชญาคลาสสิกที่บรรพบุรุษของเราได้ขบคิดกันมากว่าพันๆปีแล้ว ชีวิตไม่ใช่สิ่งที่อยู่ห่างไกลตัวเรา ชีวิตเป็นนามธรรมและรูปธรรมในขณะเดียวกัน นั่นก็คือการที่เรากำลังเห็นอยู่นี้มิใช่ชีวิตหรอกหรือ การคิดการนึกถึงสิ่งที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส และสัมผัส มิใช่ชีวิตหรอกหรือ เรามี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรารับรู้อารมณ์ต่างๆ ทางประสาทสัมผัส ทั้งนี้ ประสาทสัมผัสย่อมเกิดเนื่องมาจากอารมณ์เหล่านั้น นี่คือชีวิตในขณะนี้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราด้มีชีวิตมาแล้วในอดีตและจะมีชีวิตต่อไปในอนาคต สืบเนื่องกันไปในทุกสรรพสิ่งของสิ่งมีชีวิต

ชีวิตเกิดขึ้นได้อย่างไร มีเบื้องต้นของการเกิดนี้ขึ้นมาอย่างไร เราย้อนกลับไปหาอดีตไม่ได้แต่เราสามารถที่จะศึกษาจากอดีตได้ ถ้าเราใคร่จะรู้ว่าชีวิตของเรานั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร เราก็ควรจะรู้ว่าอะไรเป็นปัจจัยให้เกิดสิ่งมีชีวิตนี้ขึ้นมาด้วยในขณะนี้ ขณะที่กำลังเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัส ทำไมเราเกิดมามีอุปนิสัยต่างกัน และมีบุคลิกภาพต่างกันมากมาย และรูปร่างลักษณะที่ต่างกันตามสังคมของภูมิศาสตร์โลกเรานี้

จุดกำเนิดของสิ่งมีชีวิตบนโลกเรานี้ได้เริ่มเป็นปัญหาสำคัญและเป็นสิ่งที่สนใจกันมาก ตั้งแต่การค้นพบว่าสิ่งมีชีวิตทั้งหลายเกิดมาจากจุลินทรีย์ นักปราชญ์โบราณเคยแก้ปัญหากันอย่างง่ายๆ เช่น ลูเครตีอุส (กวีโรมัน) ได้ให้คำตอบว่า ชีวิตเกิดขึ้นเอง เกิดจากก้อนดินธรรมดานี้แหละที่มีความชื้นและความอบอุ่นจนเกิดชีวิตประเภทต่างๆขึ้นมาในสมัยใหม่นี้เอง ทีแรกก็ยังเชื่อกันว่าอาจจะทดลองให้ชีวิตเกิดขึ้นเองในหลอดแก้วได้ (เป็นทฤษฏีบริสุทธิ์) โดยให้ลองตักน้ำจากบ่อมาสักเล็กน้อยตากแดดให้อุ่นไว้ ไม่ช้าก็จะเห็นสิ่งมีชีวิตเต็มไปหมด คราวนี้ลองเอาน้ำมาต้มเสียก่อนเพื่อให้แน่ใจว่า ได้ฆ่าสิ่งมีชีวิตหมดสิ้นแล้ว นำไปผึ่งแดดให้อุ่น ก็ยังจะมีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นให้เห็นอยู่ดี คราวนี้ทดลองซ้ำใหม่ ให้อุดปากหลอดแก้วให้แน่นด้วยสำลี เพื่อกันมิให้สิ่งมีชีวิตอื่นที่อาจล่องลอยอยู่ในอากาศตกลงไปในน้ำได้ จะเห็นว่าไม่มีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นเลย เป็นอันว่าปัญหาถกเถียงกันเรื่องสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นเองได้หรือไม่ ก็เป็นอันยุติลง

นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า การค้นคว้าทางทฤษฏีบริสุทธิ์นั้นเกิดผลดีในทางปฏิบัติเพียงไร ทำให้เรารู้เรื่องเชื้อโรค รู้วิธีรักษาอนามัย รู้จักผ่าตัดไม่ให้อักเสบและติดเชื้อ นับว่าส่งเสริมสวัสดิการของมนุษย์เราอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง แต่นักค้นคว้านักวิทยาศาสตร์พวกนี้ มุ่งหน้าหาความรู้ใหม่ๆเกี่ยวกับเชื้อโรค และการกำจัดเชื้อโรค พวกเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ หาความรู้เพื่อรู้เท่านั้น กับอีกจำพวกหนึ่งที่สนใจในปัญหาเดียวกันเขาสนใจในกำเนิดของสิ่งมีชีวิต สนใจว่าชีวิตคืออะไร ชีวิตเกิดขึ้นได้อย่างไร และที่สำคัญต่อคำถามที่ว่า “ชีวิตมีความหมายอย่างไร” เคยมีการแบ่งเกี่ยวกับคำตอบเรื่องชีวิตแรกนี้ไว้ ๓ แนวด้วยกัน คือ

๑. เชื้อชีวิตแรกอาจจะล่องลอยมาในอวกาศจากโลกอื่น
๒. พระเจ้าสร้างขึ้นบนโลกของเราเอง
๓. ชีวิตเกิดขึ้นเองบนโลกของเราโดยวิวัฒนาการของอนินทรีย์สาร

คำตอบแรกเมื่อพิจารณาตามทฤษฏีแล้ว ก็ไม่เห็นว่าจะเป็นไปไม่ได้ เพราะชีวิตอาจจะล่องลอยมาในอวกาศจากดาวเคราะห์หรือดาวฤกษ์ดวงใดก็ได้ อาจจะมาในรูปเชื้อชีวิตที่เล็กอย่างที่สุดซึ่งอาจจะซ่อนตัวมาตามซอกของลูกอุกาบาศก์ที่ตกลงสู่พื้นโลก นักวิทยาศาสตร์หลายคนพากันเสนอคำตอบนี้ แต่คำตอบนี้ก็ไม่แก้ปัญหาได้จริง เพราะถ้าเป็นจริงเช่นนั้น ปัญหาก็จะถูกซัดทอดไปให้โลกอื่นอีกต่อไป นั่นคือปัญหายังมีต่อไปได้อีกว่า ชีวิตแรกในดาวที่มีชีวิตเป็นแห่งแรกเลยทีเดียวนั้น มาจากไหน เป็นอันว่าคำตอบแรกนี้เราข้ามไปได้เลยเพราะจะสาวกันไปไม่รู้จบ

คำตอบที่สองว่าพระเจ้าสร้างชีวิตขึ้นมานั้น คำตอบนี้เราจะรับฟังได้แค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะตีความหมายการสร้างอย่างไร เรามักจะชอบคิดกันว่า อยู่มาวันหนึ่ง และ ณ ที่แห่งหนึ่งในอวกาศพระเจ้าทรงประกาศิต (โอม..!) ชีวิตก็เกิดขึ้นในบัดดล ถ้าตีความหมายแบบนี้ นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายก็จะพากันเมินหน้าหนีไป เพราะพวกเขาเคยแต่มองหาระเบียบแบบแผน และการสืบเนื่องกันในงานของธรรมชาติ ถ้าหากตีความหมายว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างชีวิต แต่ทั้งนี้พระองค์ทรงบันดาลให้ค่อยเป็นค่อยไปตามวิถีของธรรมชาติ ความเห็นนี้ก็น่าจะรับไว้พิจารณาได้

คำตอบที่สามว่า ชีวิตเกิดขึ้นเองบนโลกของเราโดยวิวัฒนาการของอนินทรีย์สาร ความคิดเห็นนี้นักชีววิทยาถือกันโดยทั่วไป แม้ว่าข้อสนับสนุนยืนยันต่าง ๆ นา ๆ ที่ใช้พิสูจน์ว่าอินทรีย์สาร มาจากอนินทรีย์สาร แต่ก็ยังไม่เด็ดขาดจากชนิดที่ว่าหาข้อโต้แย้งไม่ได้ การทดลองในห้องทดลองก็ยังชี้อยู่เสมอว่า ชีวิตต้องมาจากสิ่งที่มีชีวิต แต่ก็มิได้หมายความว่าจะเป็นไปไม่ได้เสียทีเดียว อาจจะมีสภาพแวดล้อมอะไรสักอย่างที่ทำให้อนินทรีย์สาร กลายมาเป็นอินทรีย์สารขึ้นมาได้ เหตุการณ์นี้อาจจะเคยเกิดขึ้นมาครั้งหนึ่ง ทุกวันนี้ยังอาจจะเกิดขึ้นอยู่อีกก็ได้ กล่าวคือการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมต่างๆ เป็นต้น (ส่วนหนึ่งที่มา : ปรัชญาเบื้องต้น กีรติ บุญเจือ แปลจาก G.T.W. Patrick / Introduction to Philosophy ๑๙๓๘)

ดังที่กล่าวมานี้มันเป็นคำถามต่อปัญหาภายนอก แต่คำถามต่อปัญหาภายในที่ว่า “ชีวิตมีความหมายอย่างไร” มีความสำคัญยิ่งกว่า เพราะมันเป็นอยู่สำหรับเราทุกวันนี้ในตัวเรานี้ ถ้าเราหันหลังให้วิทยาศาสตร์ แล้วหันมาสนใจ ศึกษาจากประสบการณ์ของตัวเราเองดูบ้างแล้ว จะพบว่ายังมีอีกเอกภพหนึ่งที่แตกต่างกับที่กล่าวมาแล้วเป็นคนละแบบเลยทีเดียว นั่นก็คือ โลกของสิ่งที่มีชีวิตอันเป็นดินแดนมหัศจรรย์อย่างแท้จริง ที่เต็มไปด้วยชีวิตและปัญญา โลกที่สร้างสรรค์รูปแบบใหม่ๆ ชนิดใหม่ๆ และประดิษฐ์กรรมใหม่ๆ อยู่เสมอ โลกที่มีการเติบโตและพัฒนา ที่มีสิ่งที่กำหนดการกระทำของตัวเองโดยสำนึก มีความคิดและความรู้สึก จำอดีตได้ และใฝ่ฝันอนาคตได้ มีอุดมการณ์ได้ รู้จักร่วมมือกันเป็นกลุ่มก้อน โลกที่มีความคิดไตร่ตรอง ศิลปะ ปรัชญา วรรณคดี ดนตรี โลกที่มีจุดหมายและมีคุณค่า โลกแห่งประสบการณ์ของเราทั้งหมดที่เต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวาเช่นนี้จะมีความเป็นจริงน้อยกว่าโลกที่เป็นหลักการความรู้ภายนอกเทียวหรือ...

ชีวิตของเราเต็มไปด้วยสิ่งที่กระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกของเรา บางคนก็ไม่เห็นว่าความทุกข์จะลดน้อยลงเมื่อเราทำสิ่งที่ตามอารมณ์ความรู้สึกของเราไปแล้ว เรามีความมุ่งหวังในชีวิตต่างๆกัน เราปรารถนาความสุขกันทุกคน และต่างก็มีทัศนะในเรื่องความสุขและทางที่จะได้รับความสุขต่างกัน และทุกข์ในเรื่องชีวิตประจำวัน เราพยายามที่จะหาทางหนีให้พ้นจากชีวิตประจำวันด้วยวิธีต่างๆนานา บางคนหาความสุขกันแบบต่างๆนานา บางคนก็ดื่มเหล้าหรือเข้าหาแหล่งความบันเทิงที่มีอยู่หลากหลาย เพื่อให้อยู่เสียอีกโลกหนึ่ง หรือให้รู้สึกเหมือนกับเป็นคนอื่น คนที่หนีความจริงจะไม่รู้จักตัวเอง และจะมีชีวิตอยู่ด้วยความไม่รู้ต่อไป จากประสบการณ์ของผมนั้น ผมได้เห็นผู้คนมากมายที่ต้องการหาความสุขใส่ตัว และผู้คนจำพวกนั้นก็มีความสุขกันจริงๆ แต่เป็นความสุขชั่วคราวแล้วก็ต้องกลับมาใหม่เพื่อหาความสุขอีกไม่จบสิ้น ซึ่งลืมฉุกคิดไปว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เราต้องแสวงหาความสุข ว่าแต่ตัวผมเองก็เคยยึดติดในความสุขชั่วคราวมาก่อนนั้นด้วย จนวันหนึ่งมีบางสิ่งที่ทำให้ผมสะดุดคิดได้ ผมว่ามนุษย์เราทุกคนต้องเคยมีอะไรบางอย่างที่ทำให้เราสะดุดคิดได้เหมือนกัน เพียงแต่ตัวเราจะรู้หรือเปล่าหรือสะดุดคิดหรือเปล่า อาจจะมาช้าบ้างเร็วบ้างแตกต่างกันไป แล้วแต่ประสบการณ์ของแต่ละคนที่พบเจอ ความรู้สึกฉุกคิดนี้มีอยู่เฉพาะในจำพวกสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์เท่านั้น สิ่งมีชีวิตอื่นๆไม่มีความฉุกคิดนี้เกิดขึ้น มีแต่สัญชาตญาณล้วนๆในการเอาตัวรอดดำเนินชีวิตไป ซึ่งการฉุกคิดนี้อาจเรียกได้อีกอย่างว่าคือ “จิตสำนึกของมนุษย์เรา”

มนุษย์เราเองนั้น มีศักยภาพในการที่จะคิด ในการที่จะยับยั้ง ในการจินตนาการได้ และที่สำคัญที่สุดมนุษย์เรานั้นมีการเรียนรู้ได้อย่าง “ไม่มีขีดจำกัด” ซึ่งจะกล่าวได้ว่าไม่มีในสิ่งมีชีวิตใดๆในโลกที่จะเป็นอย่างนี้ได้ การเรียนรู้ของมนุษย์จะเรียนรู้ควบคู่ไปกับสัญชาตญาณ มนุษย์เรานี้มีการคิดอยู่ตลอดเวลา มีการวิเคราะห์ มีการนึกคิดว่าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร พอใจอะไร ไม่พอใจอะไร หรือไม่รู้สึกกับอะไรเลย ทั้งหมดกระทำโดยมีสัญชาตญาณเข้ามาควบคู่กันไป ซึ่งจะหล่อหลอมรวมกันเป็นตัวเราจนกระทั่งกลายเป็น บุคลิกภาพส่วนตัวของเรา โดยมีปัจจัยทางสังคม ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เป็นตัวทำให้เราเปลี่ยนแปลง และบุคลิกภาพส่วนตัวของเรานี้สามารถที่จะฝึกได้

หนังสือเล่มนี้จะเน้นในเรื่องของการเรียนรู้ แต่ไม่ได้มีความมุ่งหมายเพื่อที่จะให้รู้เพียงอย่างเดียว ว่า เอ่ย! ฉันรู้น่ะ ฉันรู้เรื่องนี้น่ะ...มันเหมือนกับการเรียนรู้เพื่อประดับตัวเราเท่านั้น เหมือนเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านให้สวยงามแต่เราไม่ได้อยู่อาศัย แต่จะเป็นการเรียนรู้เพื่อให้คิด ให้ควบคุม และเพื่อการพัฒนาตัวเรา และก็เช่นกันไม่ได้เน้นให้ควบคุมตัวเราหรือพัฒนาตัวเราทางร่างกาย แต่จะเน้นจากภายใน ควบคุมการคิด การควบคุมสัญชาตญาณภายในตัวเรา เพื่อเกิดการพัฒนาจากภาพในไม่ใช่จากภาพภายนอก คนเราส่วนใหญ่มักจะเรียนรู้จากภายนอกตัวเรา กล่าวคือเช่น การพัฒนาทางร่างกาย หลายคนก็จะเข้าฟิตเนตกันหรือไปออกกำลังกายเพื่อการพัฒนาศักยภาพของร่างกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี (ถึงปัจจุบันนี้จะกลายเป็นเรื่องของแฟชั่นไปบ้างแล้วก็ตาม) และในเรื่องของความคิด หลายคนมักจะเรียนรู้และพัฒนาความคิดจากภาพนอก กล่าวคือเราจะทำอย่างไรเพื่อที่จะมีอำนาจ เราจะทำอย่างไรเพื่อที่จะได้มา เราจะทำอย่างไรเพื่อที่จะรวย เราจะทำอย่างไรเพื่อที่จะมีทุกสิ่งทุกอย่างที่ต้องการ เราก็จะคิด คิดไปต่างๆนานา หาวิธีการดังจะเห็นได้ว่ามีหนังสือตามร้านที่ขายกันอย่างมากมายเพื่อการพัฒนาตัวเรา แต่เป็นการพัฒนาจากภาพนอกตัวเองซะส่วนใหญ่ มีหนังสือไม่มากนักที่จะมีการพัฒนาจากภาพภายในตัว (ซึ่งความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ก็จะผลักไปให้เป็นเรื่องของศาสนา) ไม่ต้องอื่นไกลตั้งแต่เราเกิดมา การเรียนรู้จากสถาบันการศึกษาทั่วไปส่วนใหญ่จะเป็นการเรียนรู้จะภาพภายนอกทั้งสิ้น เป็นการเรียนรู้เพื่อเข้าไปสู่ระบบกลไกในทางเศรษฐกิจระบบกลไกของสังคมในยุคบริโภคและวัตถุนิยม จนเกิดปัญหาดังเช่นในปัจจุบันนี้ที่มีคนว่างงานเป็นจำนวนมากหลังจากจบการศึกษามาแล้วทุกๆปี มีนักศึกษาหลายคนที่ผมเคยคุยด้วย หลังจากจบการศึกษามา ผมถามไปว่า จะทำอย่างไรต่อไปหลังจบมาแล้ว ซึ่งมันก็เป็นปัญหาต่อมาของนักศึกษาหลายคน ซึ่งก่อนหน้านั้นปัญหาของนักศึกษาก่อนจบจะมีอยู่ว่าจะทำอย่างไรเพื่อที่จะเรียนจบได้ ซึ่งหลังจากเรียนจบปัญหาที่ตามมาก็อย่างที่บอก “จะทำอย่างไรถึงจะมีงานทำ” (และที่ดีด้วย) กล่าวคือการศึกษาในยุคปัจจุบันนี้ มักจะมุ่งไปที่ระบบและโครงสร้างทางการศึกษามากเกินไป จนยากที่จะจัดการศึกษาให้เกิดความเป็นไทได้ กล่าวคือ นักศึกษามัวแต่ใช่เวลาให้หมดไปกับหลักสูตรและการวัดผลการเรียนการสอนจากภาพภายนอก แต่ไม่มีอะไรที่จะวัดระดับจากภายในได้เลย ระบบโครงสร้างจะต้องผลิตบุคลากรให้ไปมีงานทำยิ่งกว่าจะทำให้คนมีมโนธรรมสำนึกจากภายใน ที่เศร้ายิ่งไปกว่านั้นก็ตรงที่ต่อแต่นี้ไป คนที่สำเร็จการศึกษาไปแล้ว ไม่ว่าจะได้ปริญญาในระดับใดๆมา ก็จะว่างงานยิ่งๆขึ้นทุกที และเห็นแก่ตัวมากขึ้น เพราะการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ต้องการใช้คนน้อยลงไปเรื่อยๆ และต้องการแรงงานที่ถูกลงไปเรื่อยๆอีกด้วยเช่นกัน การศึกษาส่วนใหญ่จะเน้นให้จบไปเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างระบบทุนนิยมของสังคม เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกลไกของระบบ

การเรียนรู้นี้เราสามารถที่จะเรียนรู้ควบคู่กันไปได้ระหว่าง การเรียนรู้จากภายใน และการเรียนรู้จากภายนอก ไม่ใช่สักแต่เรียนรู้จากภาพภายนอกเพียงอย่างเดียว การเรียนรู้จากภายในเป็นขบวนการเรียนรู้ให้แต่ละคนได้รู้จักศักยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในตัวเอง เพื่อที่จะได้รู้จักตัวเองและพึ่งตนเองได้

ชีวิตนั้นเป็นสิ่งที่น่ามหัศจรรย์ การที่จะเรียนรู้จักชีวิตนั้นผมจะขอเริ่มจากการเรียนรู้จากภายนอกตัวเราก่อนเพราะเป็นสิ่งที่เราสามารถมองเห็นและจับต้องได้เป็นรูปธรรม ซึ่งแต่ละคนมีกันอยู่แล้วอย่างครบถ้วนแล้วค่อยๆ เริ่มเรียนรู้เข้าไปภายในตัวเรา กล่าวคือ “จิตใจ”

ร่างกาย Body
ร่างกายของมนุษย์มีการจัดระบบเป็น ๔ ระดับด้วยกัน ระดับแรกเป็นระดับที่เล็กที่สุดได้แก่ เซลล์ (cell) จำนวนประมาณ ๗๕-๑๐๐ ล้านล้านเซลล์ แบ่งออกเป็นประเภทต่างๆได้กว่า ๑๐๐ ประเภทด้วยกัน เซลล์ที่คล้ายคลึงกัน รวมทั้งวัตถุไม่มีชีวิตที่รองรับเซลล์เหล่านั้น ซึ่งเรียกว่า เมทริกซ์ (matrix) จะประกอบกันขึ้นเป็นกลุ่มที่เราเรียกว่าเนื้อเยื่อ (tissue) จะอยู่ในระดับสอง ระดับที่สามนั้น เนื้อเยื่อแต่ละชนิดจะทำหน้าที่ต่างๆกันไป เนื้อเยื่อที่เกี่ยวข้องกันจะรวมกลุ่มกันเป็นอวัยวะ (organ) เพื่อทำงานเฉพาะอย่าง ในระดับสุดท้ายระดับที่สี่ ร่างกายจะมีการรวมกลุ่มอวัยวะต่างๆเพื่อให้ทำงานสัมพันธ์เป็น ระบบ (system) เดียวกัน กลายเป็นร่างกายเรากลายเป็นตัวเราอย่างทุกวันนี้ ดังนั้นร่างกายโดยรวมก็คือ บรรดากลุ่มของเซลล์ต่างๆ ซึ่งจัดรวมกันอย่างมีระเบียบ และแต่ละกลุ่มก็จะอยู่ในที่ๆกำหนดเพื่อทำหน้าที่เฉพาะอย่างของมัน สรุประดับของร่างกายประกอบด้วย

- เซลล์ (cell)
- เนื้อเยื่อ (tissue)
- อวัยวะ (organ)
- ระบบร่างกาย (system)

ทั้งนี้ผมจะไม่ขออธิบายรายละเอียดต่างๆของระดับร่างกายสี่ระดับนี้ เพราะมันจะเป็นรายละเอียดปลีกย่อยไปอีกมาก ซึ่งจะไม่ตรงประเด็นกับหนังสือที่ผมเขียนนี้ ผู้อ่านที่ใคร่จะรู้ สามารถหาอ่านได้จากตำราที่มีอยู่มากมายได้

ร่างกายเรานั้น ทุกอย่างจะดำรงอยู่อย่างมีเสถียรภาพ อุณหภูมิของร่างกายคนเรานั้นจะคงตัวอยู่ที่ ๙๘.๖ ฟ. (๓๗ ซ.) ไม่ว่าจะอยู่ในเขตหนาวจัดหรือร้อนจัด ความเข้มข้นของน้ำตาลในเลือดจะไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก การรักษาสภาพภายในร่างกายให้คงที่แม้ว่า สภาวะภายนอกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตามนั้น เรียกว่า ภาวะคงที่ภายในกาย หรือ ภาวะธำรงดุล (homeostasis) หากในร่างกายไม่มีภาวะธำรงดุล ร่างกายก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมภายนอกและเราก็จะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข เพราะจะต้องแสวงหาสิ่งแวดล้อมที่คงที่อยู่ตลอดเวลา เราถึงต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นที่เป็นสัตว์ดังนี้ ไม่งั้นเราก็คงต้องอพยพเหมือนสัตว์ที่อพยพตามฤดูกาลเป็นอย่างแน่แท้ ภาวะธำรงดุลเกิดขึ้นได้เพราะร่างกายมีกลไกที่คอยควบคุมสภาพภายใน เมื่อใดที่สภาพสมดุลในร่างกายได้รับความกระทบกระเทือนร่างกายจะมีปฏิกิริยาตอบสนอง เช่น ร่างกายจะมีอาการสั่นหรือมีเหงื่อออก ทั้งนี้เพื่อปรับอุณหภูมิภายในร่างกายให้สมดุลกับโลกภายนอกนั่นเอง

ในแง่ของสสาร ร่างกายมนุษย์ดูเหมือนไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น ธาตุต่างๆในร่างกายมนุษย์นั้น สามารถพบได้ในสิ่งต่างๆบนโลกเรานี้ แต่ในร่างกายมนุษย์เรานี้ ธาตุเหล่านี้ประสมกันในลักษณะซับซ้อนเฉพาะตัว สสารสำคัญๆ ที่พบประมาณร้อยละ ๗๐-๘๐ เป็นน้ำสักส่วนใหญ่ แต่ก็มีสสารผสมบางอย่างที่ไม่ปรากฏในสิ่งที่ไม่มีชีวิตอื่นด้วย นอกจากน้ำแล้ว ยังมีสสารโปรตีนอยู่ร้อยละ ๑๐-๒๐ ตามด้วยเกลือแร่อันเป็นส่วนผสมของ โลหะ กับ อโลหะ ไขมัน คาร์โบไฮเดรต (แป้งและน้ำตาล) และกรดนิวคลิอิก (nucleic acidic) ซึ่งได้แก่ ดีเอ็นเอ (DNA ย่อจาก deoxy ribonucleic acid) ซึ่งเป็นโปรแกรมหลักของการประกอบสร้างร่างกายและ อาร์เอ็นเอ (RNA ย่อจาก ribonucleic acid) ซึ่งจะเป็นตัวสานต่อให้ร่างกายพัฒนาไปตามโปรแกรมหลักของ DNA แต่ที่น่าสนใจก็ คือ ร่างกายไม่ใช่ระบบทางเคมีที่ตายตัว แต่จะมีพลวัตปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เพราะมีการจัดระบบที่ดีเสริมการออกแบบที่น่าอัศจรรย์ กล่าว คือ อวัยวะต่างๆในร่างกายสามารถเสริมสร้างตนเองเจริญเติบโต มีการรับรู้และตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ มีระบบควบคุมและซ่อมแซมส่วนต่างๆได้เป็นอย่างดีนอกจากนี้ร่างกายยังสามารถสืบพันธุ์เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของสิ่งมีชีวิต

ทำไมชีวิตของคนเราเกิดมาจึงมีลักษณะหน้าตาหรือร่างกายคล้ายกันกับผู้ที่ให้กำเนิด ในศตวรรษที่ ๒๐ นี้เองที่นักวิทยาศาสตร์สามารถอธิบายได้ว่า เหตุใดลูกจึงมักจะมีส่วนเหมือนพ่อแม่ เหตุผลก็คือ พ่อแม่จะถ่ายทอดหน่วยพันธุกรรมให้แก่ลูก หน่วยเหล่านี้จะบรรจุด้วยข้อมูลคำสั่งซึ่งเป็นตัวกำหนดคุณลักษณะต่างๆของคน ในนิวเคลียสของเซลล์ทุกเซลล์ในร่างกายจะมีสิ่งที่เรียกว่า โครโมโซม (Chromosome) ซึ่งประกอบด้วยหน่วยพันธุกรรม หน่วยพันธุกรรมประกอบด้วยกรดดีเอ็นเอ เรียงกันเป็นเส้นยาว เซลล์แต่ละเซลล์จะบรรจุดีเอ็นเอ ยาวถึง ๑.๘ เมตร หากนำดีเอ็นเอทั้งหมดในร่างกายของคนคนหนึ่งมาเรียงเป็นเส้น ก็จะได้เส้นยาวถึง ๒๗,๐๐๐ ล้านกิโลเมตร เส้นที่บางเบาน่าอัศจรรย์ สมมติถ้าจะวัดก็จะได้ระยะทางจากโลกไปถึงดวงอาทิตย์ได้อย่างสบายๆ

กระบวนการถ่ายทอดพันธุกรรม เริ่มต้นจากที่อัณฑะของเพศผู้และของเพศหญิงในรังไข่ โดยอวัยวะเหล่านี้สร้างเซลล์สืบพันธุ์ คือ ตัวอสุจิของเพศชาย และไข่ของเพศหญิง พ่อแม่จะถ่ายทอดพันธุกรรมให้แก่ลูกทางเซลล์สืบพันธุ์ โดยทั่วไปเซลล์ของมนุษย์ประกอบด้วย ๔๖ โครโมโซม แต่เซลล์สืบพันธุ์นั้นเมื่อกลายสภาพเป็นตัวอสุจิหรือไข่แล้ว ตามกระบวนการแบ่งตัวแบบไมโทซิส จะเหลือโครโมโซมเพียงครึ่งเดียวคือ ๒๓ โครโมโซม ในอสุจิและไข่ เมื่อมีการปฏิสนธิเกิดขึ้น ตัวอ่อนจะกลับมีจำนวน ๔๖ โครโมโซมอีกครั้งหนึ่ง โดยได้รับหน่วยพันธุกรรมจากพ่อแม่ฝ่ายละครึ่ง สรุปง่ายๆว่า ที่เราเกิดมานี้มีส่วนที่ได้มาจากพ่อและแม่เราอย่างละครึ่งนั่นเอง ถ้ามีใครมาถามเราว่า นี่เราหน้าคล้ายพ่อน่ะ นี่เราหน้าคล้ายแม่น่ะ เราได้ส่วนไหนจากพ่อและแม่มากกว่ากันล่ะ เราตอบได้อย่างภาคภูมิใจเลยว่าได้มาอย่างละครึ่งจากพ่อแม่นั่นแหละ... บางท่านเข้าใจผิดว่า เราเกิดมาเป็นชายคงได้เชื้อจากพ่อมากกว่า หรือเราเกิดมาเป็นหญิงเราคงได้เชื้อจากแม่มากกว่า นั่นมันเป็นเรื่องของการจับคู่กันระหว่างโคโมโซม (XYของชาย) และ (XX ของหญิง) ซึ่งมันก็เป็นรายละเอียดปลีกย่อยต่อไปอีก นอกประเด็นของหนังสือเล่มนี้ ผู้อ่านที่ใคร่สนใจก็หาอ่านได้จากตำราต่างๆ เช่นกัน

เมื่อถึงเวลานี้ ที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์คนหนึ่งแล้ว ตามขบวนการตามธรรมชาติ การพัฒนาการทางตัวเราและการเรียนรู้กำลังจะเริ่มขึ้นต่อมา ดูเหมือนว่าการเรียนรู้หรือการรับรู้ต่อโลกใบนี้ดูช่างใหญ่โตนี่เสียนี่กะไร เรารับรู้สิ่งรอบตัวเราแทบทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกเวลาทุกวินาที สมองเราจะได้รับข้อมูลจำนวนนับไม่ถ้วนจากทุกส่วนของร่างกายและจากโลกภายนอกรอบตัวเรา ต่างกับสัตว์ที่เรียนรู้ตามสัญชาตญาณเพื่อการเอาตัวรอด แต่มนุษย์เราเรียนรู้เพื่อการพัฒนาการ โดยทั่วไปแล้วเราจะไม่ให้ความสนใจกับสัญญาณที่ได้รับข้อมูลเหล่านี้ ยกเว้นต่อเมื่ออยู่ในสภาวะที่ไม่คุ้นเคยหรือที่เป็นอันตราย เราจึงจะตื่นตัวกับมันเป็นพิเศษ

ปกติแล้วความสนใจของเราหรือการรับรู้จะค่อยข้างจำเพาะเจาะจง เราจะไม่สำนึกอยู่ทุกขณะจิตถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นที่แขน ขา ตา หู จมูก ปาก หรือความรู้สึกจากการสัมผัสต่างๆ อย่างเช่น เมื่อเราจดจ่อกับนวนิยายหรือกำลังทำอะไรบางอย่างเช่น วาดรูป เราก็จะไม่ได้ยินเสียงวิทยุหรือเสียงเฮฮาของคนรอบข้าง หรือขณะขับรถเราคงไม่อ่านแผนที่เส้นทางขณะขับรถไปเป็นแน่ “จิต” ของเราก็เช่นกัน ถ้าเราสามารถฝึกจิตให้สำนึกอยู่ทุกขณะ (สมาธิ) สิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบกายก็จะไม่มากระทบตัวเราได้ กล่าวโดยรวมแล้ว จิตสำนึกจะไม่รับรู้ข้อมูลร้อยละ ๙๙ ที่สมองได้รับ ด้วยเหตุว่าข้อมูลเหล่านั้นไม่สำคัญ หรือไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราสนใจอยู่ในขณะนั้น และอะไรล่ะ ที่เป็นส่วนการรับรู้ข้อมูลของร่างกาย ที่จะกล่าวถึงในบทต่อไป

0 Comments:

Please Comments

Sponsored Links

Thaifossil.com      ”ของแปลกของหายาก      Menu Domain      Thai Cosmic

Text Link Ads