Tuesday, August 7, 2007

ประตูแห่งการรับรู้


สิ่งที่มนุษย์ “รับรู้ หรือ รู้สึก” ได้นั้น มีมาแต่กำเนิดผ่านเข้ามาทางผัสสะ กล่าวคือ การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การได้รส การสัมผัส การรับรู้นั้นมิได้ทำให้เราเกิด มโนคติ มโนภาพ หรือจินตนาการ ได้ทั้งหมดไม่มีญาณใดที่จะรับประกันได้ว่าการรับรู้ของคนเราเกิดขึ้นมาได้แต่เกิด ถ้าจะมีใครเชื่อว่า มโนคติมีมาแต่เกิด ก็เห็นจะเป็นจำนวนน้อยเต็มที จริงอยู่ที่ว่า ความพร้อม ความโน้มเอียง ความสนใจ ปฏิกิริยาต่างๆ เหล่านี้เรามีมาแต่เกิด แต่ถ้าการรับรู้ที่เป็นล่ำเป็นสันแล้วไม่มีเลย

วิธีที่จะเข้าใจทฤษฎีการรับรู้ได้ดีขึ้นนั้น ต้องศึกษาต้นกำเนิดของตัวเราเอง หรือตัวผู้รู้เองเสียก่อน แรกทีเดียวนั้นได้แก่การตอบสนองต่อสิ่งเร้า พร้อมกับการรับรู้แบบธรรมดาๆ มาตั้งแต่เกิด หรือจะพูดตามสำนวนโบราณได้ว่า การรับรู้ในตอนเกิดมา เป็นเหมือนกระดานเขียนที่ว่างเปล่า ประสาทสัมผัสจะประทับอะไรลงไปก็ได้ ถ้าหากจะพิจารณา ไล่เลียงเรื่องนี้ตามแนวจิตวิทยา ก็จะเห็นว่า ไม่มีญาณใดในตัวเราที่นำการรับรู้มาให้เราอย่างปาฏิหาริย์ และไม่มีกฎที่ว่า การรับรู้จะมาก่อนประสบการณ์ ซึ่งประสบการณ์จะต้องมาทีหลังการรับรู้ ถ้าประสบการณ์มาก่อนมันจะกลายเป็นว่าเราสามารถรู้อนาคตได้ล่วงหน้าเหมือนมีญาณวิเศษ ผัสสะต่างๆที่ว่าเป็นหน่วยแรกของการรับรู้นั้น อาจจะนำมาประติดประต่อกันเข้าเป็นระบบการรับรู้ จะสำรวจดูว่า สิ่งใดเป็นศัตรูและสิ่งใดเป็นมิตร หรือพอใจ ไม่พอใจ ชอบ ไม่ชอบ เฉยๆ เป็นต้น และจะกระทำปฏิกิริยาต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม ผลที่ได้มาก็ คือ “ประสบการณ์การรับรู้” ประสบการณ์ที่ได้มานี้จะสะสมไว้เพื่อนำมาดัดแปลงต่อการใช้กับสถานการณ์ใหม่ๆต่อไป เป็นเรื่องๆ เป็นรายๆไป และจะมีประสบการณ์แปลกใหม่อยู่ตลอดไปเรื่อยๆ ผู้อ่านลองคิดดูซิว่า ชีวิตเรามันน่าสนุกสักเพียงไหนกับประสบการณ์ที่มีมาตลอดในชีวิตเรานี้ ประสบการณ์ทำให้เราจะปฏิบัติต่อสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมต่างๆอย่างเฉลียวฉลาด โดยทำการควบคุมและครอบครองให้เป็นประโยชน์ต่อตัวเรา จึ่งจะเห็นได้ชัดแจ้งแล้วว่า ประสบการณ์ที่สะสมไว้เช่นนี้แหละเรียกได้ว่าเป็น “ความรู้” ซึ่งมีสิ่งที่น่าสังเกตุอย่างหนึ่ง ตรงที่เราได้ความรู้มาพร้อมกับความ “คับแคบในใจ” ตามมาด้วย! เพราะอย่างที่กล่าวมาแล้วว่า ประสบการณ์จะกระทำการควบคุมและครอบครองให้เป็นประโยชน์ต่อตัวเรา จะเกิดการบีบคั้น เกิดการเห็นแก่ตัวขึ้น เห็นแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง เกิดความหยิ่งยะโส จะดูถูกและเอาเปรียบกันมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากประสบการณ์ได้สั่งสอนเรามา การเรียนรู้เป็นสิ่งที่ทำให้เราฉลาดขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เราเป็นคนที่มีศีลธรรมดีขึ้น หรือคุณธรรมดีขึ้นเลย ถ้าเราไม่ได้เรียนรู้จากภายในตัวเราเองเป็นเพียงแต่ประสบการณ์จากภายนอกที่เรารับรู้หรือเรียนรู้ หลายคนก็คงทราบดีว่าปัจจุบันนี้สังคมเราเป็นอย่างไร แก่งแย่งแข็งขันกันเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการเพื่อให้ได้มา เกิดวิกฤตการแก่งแย่งชิงดีขึ้นในสังคมเรา คิดหาวิธีต่างๆนาๆขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์กับตัวเราหรือกับกลุ่มพวกพ้องของเราขึ้น แต่ผมก็เชื่อว่ามีบางคนที่เคยมีประสบการณ์จากภายในมาบ้างอย่างเช่น เราจะเกิดความภาคภูมิใจเวลาเราได้ทำความดีขึ้น หรือการให้แล้วเรารู้สึกดีโดยไม่หวังผลตอบแทนเป็นการให้จากภายในใจ หรือรู้สึกดีเวลาที่ได้อยู่กับธรรมชาติที่สวยงามอย่างเป็นอิสระ (ถึงแม้จะชั่วขณะหนึ่งก็ตามที) เป็นต้น เราจะเกิดมิติทางใจเกิดขึ้น ซึ่งไม่สามารถอธิบายออกมาเป็นคำพูดได้ อาจจะกล่าวได้ว่า เป็นสุนทรีย์ทางใจเกิดขึ้น จะเกิดอิสระจากภายในออกมา เป็นประเด่นที่จะกล่าวถึงต่อไปในบทต่อไปนั้น

ทางวิทยาศาสตร์รู้ดีว่าคนเราประกอบด้วยส่วนต่างๆของร่างกาย ซึ่งมีน้ำ กระดูก โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต เกลือแร่ และไวตามิน ฯลฯ มีตัวกำหนดเพศด้วยโครโมโซม กำหนดลักษณะด้วยยีนมี DNA และ RNA เป็นตัวกำหนดโครงสร้างต่างๆ มีอวัยวะที่สำคัญทั้งภายในและภายนอก โดยอาศัยอาหาร อากาศ และ น้ำ เพื่อการยังชีพ มีความรู้สึกนึกคิด มีสติปัญญา มีความรัก ความเกลียด ความโกรธ ความต้องการ สามารถสืบพันธุ์กับสัตว์ประเภทเดียวกันดังที่กล่าวมาตอนต้นแล้ว และมีกาลเวลาที่ชีวิตต้องสิ้นสุดและเน่าเปื่อยสลายลง แต่ในอีกทางหนึ่ง ทางพุทธศาสนา ประตูแห่งการรับรู้ตัวเรานั้นสามารถแบ่งออกได้เป็นสองอย่างคือ การรับรู้ภายนอก และ การรับรู้ภายใน อย่างที่ผมกล่าวไว้แล้วว่า “รับรู้ กับ รู้สึก” การรับรู้เป็นสิ่งสัมผัสได้จากภายนอก ส่วนการรู้สึกสัมผัสได้จากภายในเราเท่านั้น (รูป กับ นาม) กล่าวได้ คือ

ร่างกาย (รูป / รูป)
ความรู้สึก (เวทนา / นาม)
ความจำ (สัญญา / นาม)
การคิด ปรุงแต่ง (สังขาร / นาม)
การรู้ (วิญญาณ / นาม)

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีมานานอยู่แล้วกว่า ๒,๕๐๐ กว่าปี ในพุทธศาสนา เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ถ้าทำความเข้าใจให้ดี เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเราทั้งนั้น เราสามารถผัสสะสัมผัสเรียนรู้และฝึกได้ด้วยในตัว ซึ่งจะทำให้เรารู้เท่าทันตัวเราเองด้วย เมื่อเรารู้เท่าทันตัวเราเองได้ เราก็จะรู้เท่าทันคนอื่นได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะขออธิบายไว้เป็นข้อๆดังนี้

ร่างกาย (รูป / รูป) คือ
ผมต้องขอทำความเข้าใจในเรื่องนี้เล็กน้อยว่า ผมได้อธิบายในเรื่องร่างกายไว้แล้วในบทก่อน แต่นั้นเป็นเรื่องทางด้านกายภาพ (Physical) แต่สิ่งที่จะอธิบายต่อไปนี้เป็นเรื่องของ ผัสสะหรือสัมผัสล้วนๆ (Touch) ซึ่งต่างกันกับทางกายภาพมาก กระบวนการผัสสะทางร่างกายจำแนกได้อีกเป็น ๖ อย่างด้วยกัน คือ

ตา (ได้เห็น) หู (ได้ยินเสียง) จมูก (ได้กลิ่น) ลิ้น (ได้รส) กาย (ได้สัมผัส) ใจ (ได้รับรู้)

ดังจะเห็นว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามาก มันอยู่กับเรามาตั้งแต่เกิดเลยทีเดียว เป็นผัสสะหกทาง ที่มีมาแต่กำเนิด แต่เราก็ใช้กันมาแบบไม่รู้ตัวเป็นสักส่วนใหญ่ กล่าวอีกแง่หนึ่งได้ว่า เรามักจะใช้ผัสสะตามสัญชาติญาณตัวเราเท่านั้น ถ้าเราได้จะพิจารณาลงไปถึงความจริงแล้ว มันก็จะเป็นเรื่องของความไม่เที่ยงด้วย เป็นกระบวนการหรือเป็นปรากฏการณ์ชั่วขณะหนึ่งๆเท่านั้น เป็นผัสสะที่ผ่านเข้ามาให้เรารับรู้แล้วก็ผ่านไป มีเกิดและก็มีดับไป แต่ที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ว่า ตอนที่ผัสสะผ่านเข้ามานั้นตัวเราจะคิดปรุงแต่งต่อไปอีกเรื่อยๆ หรือที่เราเรียกว่า ติดใจ และในที่สุดจะกลายเป็นอุปทานต่อไป กล่าวคือ “จะยึดมั่นถือมั่นในตัวตน” ขึ้นมาจนในที่สุดก็จะมีลักษณะกลายเป็นความเห็นแก่ตัวขึ้นมา วิธีลักษณะที่ตัวเราได้รับผัสสะหรือสัมผัสนั้นมีดังนี้ (จะขอกล่าวในทางกายภาพ วิชาการสักเล็กน้อย)

ตา - แม้ว่าตามปกติเราจะไม่ได้มองเห็นโลกนี้เป็นภาพหัวกลับ แต่จริงๆแล้วเลนส์ตานั้น จะโฟกัสภาพหัวกลับไปยังจอตา ทั้งนี้เป็นผลมาจากคุณสมบัติพิเศษของแก้วตา ซึ่งสัมพันธ์กับขนาดและรูปร่างของดวงตา ภาพหัวกลับนี้จะส่งผ่านจักษุประสาทไปยังศูนย์กลางการเห็นในสมอง สมองจะแปรให้เป็นภาพหัวตั้งตามจริงดังที่สมองรู้ว่าควรจะเป็น สมองของเราจะสามารถเติมส่วนที่มองไม่เห็นลงไปในภาพเค้าโครงวัตถุนั้นได้โดยอัตโนมัติ ด้วยข้อมูลเพียงเล็กน้อย เป็นต้นว่า เพียงแวบเดียวที่เราได้เห็นทิศทางของแสงที่สาดลงบนพื้นห้อง เราก็บอกได้ทันทีว่าขณะนั้นเป็นช่วงเวลาใดของวันได้ หรือถ้าเราตกอยู่ในสถานการณ์ใดที่ตาเห็น เราก็พอจะวิเคราะห์ได้ว่าจะปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัยต่อสถานการณ์นั้นๆได้ ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า เรารับรู้สิ่งต่างๆ ได้มากกว่าที่เราเห็นจริงได้ กล่าวได้ว่า การเห็นมิใช่เป็นเพียงการที่ดวงตาเราจับจ้องไปยังวัตถุภาพนอก และมีภาพสะท้อนกลับเข้ามายังจอตาเท่านั้น หากแต่ว่าการเห็นนั้นเริ่มต้นขึ้นเมื่อสมองแปลความหมายของภาพที่เข้ามากระทบจอตาของเรา แล้วใช้ภาพที่ปรากฏแก่ดวงตานั้นเป็นพื้นฐานเพื่อสร้าง “ภาพอื่น” ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ภาพอื่นๆนี้อาจจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ภาพความทรงจำ” สมองเก็บความจำไว้มากมายนับเป็นคลังข้อมูลภาพของสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา คลังข้อมูลภาพความทรงจำนี้ จะเป็นประโยชน์หากว่าภาพที่เข้ามายังจอตาขาดความสมบูรณ์หรือมีความคลุมเครือและต้องแปลความหมายเพิ่มเติมต่อไป คงจะเคยได้ยินที่ว่า ดวงตาคือหน้าต่างของโลกกว้าง ก็ไม่ผิดนัก

หู - เมื่อเราสีไวโอลิน ร้องเพลง เคาะส้อมเสียง หรือเราอาจพูดเป็นทางการได้ว่า ทำให้วัตถุสั่นสะเทือน แรงสั่นสะเทือนจะกระทบโมเลกุลของอากาศทั้งสองข้างของวัตถุนั้น เกิดเป็นคลื่นของอากาศที่โดนกดอัด (โมเลกุลที่โดนอัดเบียดกัน) สลับกับอากาศที่เบาบาง (โมเลกุลที่กระจายตัวออกไปเมื่อมีความกดน้อย) คลื่นนี้แผ่ขยายออกไปคล้ายระลอกคลื่นในมหาสมุทร เราเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่า “เสียง” คลื่นเสียงสะเทือนเป็นช่วงของความถี่ ทำให้เกิดเป็นเสียงแหลมเสียงทุ้ม คลื่นของแรงกดอากาศซึ่งเคลื่อนที่ไปนี้จะเป็นเสียง ได้ก็ต่อเมื่อเยื่อแก้วหูของเราถูกกระทบหรือได้รับ แล้วส่งสัญญาณคลื่นนี้ไปยังสมองเพื่อให้วิเคราะห์ว่าเป็นเสียงอะไร เมื่อเราได้ยินเสียงเพียงเสียงเดียว เราอาจจะรู้ถึงคุณลักษณะหลายประการของเสียง ได้แก่ ระดับสูงต่ำ ความดังเบา แม้แต่คุณภาพของน้ำเสียง ซึ่งเป็นบ่อเกิดของความรู้สึกเร้าจากภายใน ความรู้สึกนี้เองจึงเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า “ดนตรี” (Music) เคยมีคนกล่าวไว้ว่า ดนตรีทุกประเภทมีความลึกซึ้งอย่างจะหาคำพูดใดมาอธิบายไม่ได้ และเพราะเหตุนี้เองดนตรีจึงลอยเด่นขึ้นมาในความสำนึกของเรา ปลุกอาเวคทั้งหมดในส่วนลึกของธรรมชาติของเรารื้อฟื้นขึ้นมาให้เราเสียใหม่โดยไม่มีความเป็นจริงแต่ประการใดเลย และปราศจากความปวดร้าวใดๆทั้งสิ้น . . .

จมูก - จมูกเป็นอวัยวะที่ออกแบบมาอย่างดีเยี่ยมรูปทรงที่ยื่นออกมา สอดคล้องกับการทำหน้าที่ทางสรีระ กล่าวคือเป็นท่อทางเดินอากาศ ตำแหน่งที่อยู่เหนือปากก็เหมาะสมต่อการรับรู้กลิ่นอาหาร เสริมกับปุ่มรับรสเพื่อช่วยจำแนกประเภทอาหารและรับรสชาติได้ดียิ่งขึ้น ถ้าเราอยากสัมผัสกลิ่นให้เต็มที่ เราก็ต้องสูดหายเข้าลึกๆช้าๆ เพื่อให้กระแสอากาศลอยตัวขึ้นสู่ส่วนบนของจมูกเรา ซึ่งเป็นบริเวณที่มีตัวรับสัมผัส แต่จมูกของเราจะรับรู้กลิ่นได้ก็ต่อเมื่อโมเลกุลของสารส่งกลิ่นนั้นอยู่ในรูปของเหลว กล่าวคือ กลิ่นต่างๆ มักอยู่ในรูปไอระเหยอยู่แล้วขณะที่ผ่านเข้าจมูกของเรา จมูกจะขับเมือกจากเยื่อบุผนังมาละลายโมเลกุลของสารส่งกลิ่น เมื่อโมเลกุลดังกล่าวสัมผัสปลายประสาทรับกลิ่นก็จะเกิดปฏิกิริยาเคมีขึ้นเปลี่ยนเป็นกระแสประสาทรับรู้กลิ่น เดินทางไปตามเส้นประสาทที่ลอดผ่านแผ่นกระดูกใต้สมอง ขึ้นไปสู่สมองส่วนที่ทำหน้าที่รับกลิ่นต่อไป กลิ่นแม้มีเพียงโมเลกุลเดียวก็สามารถกระตุ้นปลายประสาทได้อย่างน่าทึ่ง กลิ่นหอมหลายชนิดมีผลต่อความทรงจำความรู้สึกเราได้เป็นอย่างดีด้วย

ลิ้น - ลิ้นเป็นหนึ่งในอวัยวะสัมผัสที่มีหลากหลายหน้าที่ มีบทบาทสำคัญในการพูดและการกินอาหาร ทั้งยังเป็นที่ตั้งของชิวหาประสาทและกายประสาท ซึ่งช่วยให้เราเพลิดเพลินกับการกินอาหาร ลิ้นช่วยป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากอาหาร เช่น จะส่งสัญญาณเตือนถึงความอันตรายหากอาหารที่กินร้อนเกินไป หรือเกิดความรู้สึกขยะแขยงหากอาหารนั้นบูดเน่า เป็นต้น เงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับการรับรู้รสก็คือ ความชื้น อวัยวะรับรสจะตรวจพบสารที่ให้รสชาติในอาหารได้ก็ต่อเมื่อสารดังกล่าวละลายอยู่ในน้ำลาย หากปราศจากน้ำลายเราก็จะไม่สามารถรับรสใดๆได้เลย อวัยวะที่ทำหน้าที่รับรสอาหารก็คือปุ่มรับรสซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนลิ้น ที่เหลือกระจายอยู่ตามส่วนอื่นๆของปากและในลำคอ ปุ่มรับรสประกอบด้วยเซลล์ปลายประสาทซึ่งมีขนเส้นเล็กๆยื่นออกมาบริเวณส่วนผิว ปลายประสาทเหล่านี้เชื่อมต่อกับเครือข่ายเส้นประสาทซึ่งทำหน้าที่ถ่ายทอดข้อมูลเกี่ยวกับรสภายในสมอง ในขณะเดียวกัน เส้นประสาทอื่นๆก็ส่งข้อมูลเกี่ยวกับอุณหภูมิ ความอ่อนแข็งและความเจ็บปวด ซึ่งรับรู้ได้ด้วยลิ้นเช่นเดียวกัน

กาย - กายเราเป็นส่วนรับสัมผัสต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆได้ดีที่เราเรียกว่า ผิวหนัง ผิวหนังของเราเป็นอวัยวะน่าอัศจรรย์ที่ช่วยปกป้องและห่อหุ้มร่างกายช่วยปรับอุณหภูมิของร่างกาย ขับถ่ายน้ำและเกลือแร่ และเป็นตัวรับสัมผัสอันว่องไวต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัว ความรู้สึกไวต่อการสัมผัสนั้นเกิดขึ้นมาจากโครงสร้างรับสัมผัสในร่างกาย เส้นขนเป็นตัวรับสัมผัสชนิดหนึ่ง ขนแต่ละเส้นเปรียบเหมือนเสาอากาศเมื่อถูกสัมผัส ร่างกายบริเวณที่ไม่มีขน เช่น ริมฝีปาก หัวนม อวัยวะเพศ จะมีระบบอื่นเพื่อรับสัญญาณ คือมีประสาทรับความรู้สึกอยู่หนาแน่น ซึ่งตอบสนองต่อการลูบเบาๆ ผิวหนังชั้นลึกจะมีปลายเส้นประสาทรับรู้อยู่ทั่วร่างกายเมื่อผิวถูกแรงกดต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีประสาทรับความรู้สึกชนิดพิเศษที่ทำให้เรารับรู้แรงสั่นสะเทือน ความร้อน และความเย็นได้ ทารกที่ไร้ผู้อาทรคอยลูบไล้โอบกอดและอุ้มพาไปที่ไหนๆด้วย จะมีร่างกายและจิตใจที่เจริญเติบโตช้า นี่เป็นเรื่องจริง! เห็นได้ชัดว่า กายสัมผัสมีความสำคัญต่อชีวิตไม่เพียงแต่สำหรับทารกเท่านั้น ผู้ใหญ่ก็เช่นกันการสัมผัสและถูกสัมผัสจากผู้อื่นส่งผลให้เกิดความผาสุกทางจิตใจได้

ใจ - ใจเป็นตัวผัสสะอีกอย่างหนึ่ง หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่า “ภาวะอารมณ์” เราจะเกิดผัสสะทางใจหรือภาวะอารมณ์ได้นี้ จะต้องเกิดจากผัสสะทั้งห้าคู่สัมผัสที่กล่าวมาแล้วนี้ก่อนตั้งแต่ ตา หู จมูก ลิ้น จนถึงกาย เป็นการสัมผัสกันด้วยของทางวัตถุ มองเห็นได้ เข้าใจได้ รู้รสได้ จับต้องได้ จึงเกิดภาวะอารมณ์ขึ้นมา อารมณ์ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง อารมณ์ดีหรืออารมณ์ไม่ดี แต่หมายถึงสิ่งที่ผัสสะทั้งห้าตั้งแต่ ตาจนถึงกาย ถูกรู้ขึ้นมา “ใจ” จึงถูกผัสสะรับรู้ด้วย แต่ในบางครั้งใจก็ได้รับผัสสะโดยที่ไม่ได้ถูกรับรู้ด้วยผัสสะทั้งห้าในขณะนั้นได้ แต่เป็นการรับรู้มาแล้วแต่อดีตด้วยผัสสะทั้งห้ามาก่อน เช่น วันหนึ่งเรานึกถึงแม่ขึ้นมา นึกถึงพ่อขึ้นมา หรือนึกถึงคนรักขึ้นมา หรือนึกถึงอะไรที่เราเคยเห็นมาก่อน หรือเหตุการณ์ใดๆมาก่อน เป็นต้น เป็นการสัมผัสด้วยใจ ภาพที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่ถูกใจรับรู้ได้ เป็นต้น

ความรู้สึก (เวทนา / นาม) คือ
รู้สึกเจ็บปวด เป็นทุกข์ ไม่สบายทางกาย ไม่สบาย ทางใจ หรือ รู้สึกเป็นสุขทางกายหรือทางใจ หรือรู้สึกเฉยๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขก็ได้ ถ้าเรารู้สึกชอบก็อยากได้อีกหรือ ที่เรียกภาษาปัจจุบันว่า “ติดใจ” ถ้าไม่ชอบเราก็อยากให้สภาวะความรู้สึกนั้นหายไปหรือหลีกไป ผู้อ่านคงเคยได้ยินว่า ถ้าเรารู้สึกอย่างไรเราก็จะกระทำอย่างนั้นไปด้วย นี่เป็นเรื่องจริง! แต่เป็นเรื่องจริงสำหรับคนที่ไม่รู้เท่าทันตนเองเท่านั้น แต่สำหรับคนที่รู้เท่าทันตนเองแล้วจะสามารถพิจารณาความรู้สึกของตนเองได้ กล่าวคือ ความรู้นี้นั้นจะเป็นประโยชน์กับตัวเราเองได้อย่างไร เช่น ความรัก ความรักทำให้เราเกิดความปรารถนาต่อไป หรือถ้าเราได้เห็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ในสิ่งที่ไม่ดีเราก็สามารถเอาความรู้สึกไม่ดีของตัวเรานั้นมาเป็นอุทาหรณ์ได้ ดังนั้นความรู้สึกของตนจะไม่เกิดขึ้นได้เลยหากไม่มี “จิต” ควบคุมอยู่ด้วย

ความจำ (สัญญา / นาม) คือ
จำรูป จำเสียง จำกลิ่น จำรส จำสัมผัส ว่าเป็นอะไร ทางพุทธศาสนาถือว่า เป็นหน่วยความจำของ “จิต” ไม่ใช่ของสมอง และเป็นที่รวมของคำสั่งต่างๆ ซึ่งจะหลอมรวมกลายเป็น “ประสบการณ์” ประสบการณ์แต่ละเหตุการณ์ จิตจะจดจำไว้จากรูปที่เห็นและให้เราเกิดความรู้สึกต่อมา เราจดจำไว้เพื่อนำมาใช้ในการคิดต่อไปในภายหน้า ในลักษณะเดียวกับซอฟท์แวร์โปรแกรมที่ควบคุมกำกับสมองให้ทำงานอย่างคอมพิวเตอร์ เหตุการณ์ใดๆ ที่ผ่านเข้ามาทางรูปต่างๆ จะเกิดการจำเป็นสัญญาไว้ใน “จิต” จิตของคนเรามีคุณลักษณะ คือ สามารถเก็บบันทึกสิ่งที่ผ่านเข้ามาสู่การรับรู้ คุณลักษณะส่วนที่ทำหน้าที่เก็บบันทึกสิ่งที่ผ่านเข้ามาสู่การรับรู้นี้เรียกว่า ความจำ (สัญญา) เช่นเด็กเกิดใหม่ยังไม่รู้จักอะไร เมื่อเติบโตขึ้นก็ค่อยๆ เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากขึ้นเป็นลำดับ ครั้งหนึ่งเด็กไม่รู้ว่าคนที่อุ้มตัวเองอยู่นั้นคือแม่ ต่อเมื่อมีคนสอนว่า นี่คือแม่ และได้รับการสัมผัสอยู่ตลอด จิตของเด็กก็บันทึกความรู้นั้นไว้ ทุกครั้งที่เด็กเห็นแม่ หรือได้ยิน เด็กจะรู้ว่านี่คือแม่ คุณลักษณะของจิตส่วนที่ทำหน้าที่เก็บบันทึกสิ่งต่างๆ นี้เรียกว่า ความจำ (สัญญา)

การคิด – ปรุงแต่ง (สังขาร / นาม) คือ
การคิดนี้ จะเป็นส่วนที่เราเคยผ่านมาก่อนแล้ว หรือที่เรียกว่า “ประสบการณ์มาก่อน” เราจึงจะคิดได้ คำอธิบายได้อีกอย่างหนึ่งหมายถึง “ความปรารถนา” ความต้องการก็ได้ เมื่อ “จิต” มีความปรารถนาอย่างใด ก็จะสั่งให้สมองให้ปฏิบัติตามโดย ๓ วิธีนี้คือ

- สั่งเป็นคำพูด หรือนึกคิดเป็นถ้อยคำในทันทีที่ต้องการ

- สั่งด้วยขบวนการทำงานร่วมกันระหว่างความรู้สึก(เวทนา) กับ ความจำหมาย(สัญญา) ซึ่งเป็นหน้าที่อย่างอื่นของจิตดังที่กล่าวมาแล้ว คำสั่งชนิดนี้มีลักษณะเป็น “จินตนาการ”

- สั่งด้วยกลไกของระบบร่างกายให้อวัยวะต่างๆทำงานเช่น การหายใจ การย่อยอาหาร การเคลื่อนไหวของแขนขา ปฏิกิริยาทางร่างกาย เป็นต้น

สภาวะการคิดที่ปรุงแต่งใจ สภาวะที่ว่านี้แบ่งออกเป็นสามฝ่ายด้วยกันได้ คือ ฝ่ายดี ฝ่ายเลว และฝ่ายที่เป็นกลาง ตัวอย่างของสภาวะฝ่ายดี เช่น ความละอายต่อการชั่ว ตัวอย่างของสภาวะฝ่ายเลวก็เช่น ความไม่ละอายต่อการทำความชั่ว และตัวอย่างของสภาวะฝ่ายที่เป็นกลางไม่ดีไม่เลว เช่น ความเพียรพยายาม ความเพียรพยายามนี้โดยตัวมันเองไม่ดี ไม่เลว มันจะดีหรือเลวก็ต่อเมื่อถูกใช้ไปในทางที่ดีหรือชั่วเท่านั้น เช่น เพียรศึกษาหาความรู้ก็กลายเป็นเรื่องดี แต่ถ้าเพียรฝึกฝนวิธีโจรกรรมก็เลยเป็นเรื่องเลว เป็นต้น

การรู้ (วิญญาณ / นาม) คือ
กล่าวได้ว่าการรู้ก็หมายถึง การรับรู้โลกภายนอกที่ผ่านเข้ามาทางอวัยวะรับสัมผัสทั้งห้า (รูป) คือ ตา หู จมูก ปาก กาย นอกจากนี้ยังรับรู้การทำงานอย่างอื่นของจิตอีกด้วย คือ รับรู้ความรู้สึก(เวทนา) รับรู้การจำ(สัญญา) รับรู้การคิด(สังขาร) ได้ด้วยดังที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งประกอบไปด้วยรูปกับนาม ทั้งสิ้น หรือกายกับใจเรา ดังจะเห็นได้ว่าทุกอย่างนั้น เชื่อมโยงกันหมด “จิต” คือ สิ่งที่ทำให้ ร่างกายมนุษย์ (รูป) มีความรู้สึก (เวทนา) มีความจำ (สัญญา) และ มีการปรับเปลี่ยนคิดเพิ่มเติมปรุงแต่งขึ้นอีก (สังขาร) จนเกิดการรับรู้ (วิญญาณ) เป็นขั้นๆไป

ผัสสะสัมผัส(รูป) --> ความรู้สึก(เวทนา) --> การจำ(สัญญา) --> การคิด/ปรุงแต่ง(สังขาร) --> การรู้ (วิญญาณ)

กล่าวได้ว่าเป็นขั้นๆในที่นี้ คือ หากเราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หรือประสบการณ์ใหม่ๆ คือไม่มีข้อมูลเก่าจากความจำเก่า ก็จะมีการจำใหม่ไว้แทนต่อ ทั้ง “รูป” ที่เกิดความรู้สึก ที่เกิดจากสัมผัสการรับรู้จากภายนอก (ตา หู จมูก ปาก กาย) เห็นรูปนั้นไว้ด้วยกัน ครั้นในเวลาต่อมาเมื่อใดที่ได้เห็นรูปนั้นอีก ก็จะทำให้เกิดความรู้สึกขึ้นมา เมื่อครั้นเกิดความรู้สึกก็จะเกิดการจำขึ้นต่อมา อย่างที่เคยเกิดร่วมกับการเห็นครั้งแรกขึ้นมากได้อีกเสมอ ต่อมาเมื่อจำได้ก็จะคิดต่อเพิ่มเติมหรือปรุงแต่ง (จิตนาการ) จึงเกิดการเป็น จิต (การรู้)

การทำงานร่วมกันระหว่าง “ความรู้สึก” กับ “การจำ” เช่นนี้ ทางพุทธศาสนา เรียกว่า “จิตสังขาร” เป็นคำสั่งของจิตไปยังสมองอีกลักษณะหนึ่ง กล่าวคือ มีการเก็บคำสั่งไว้ในรูปของ “การจำ” แล้วใช้ “ผัสสะสัมผัส” เป็นตัวกระตุ้นให้เกิด “ความรู้สึก” ซึ่งจะไปดึงเอา “การจำ” ที่เก็บไว้เป็นคำสั่งนั้นมาสู่สมอง ให้ปฏิบัติตามได้ซ้ำแล้วซ้ำอีก (โปรดดูรูปตารางเทียบไปด้วย) ตัวอย่างเช่น ถ้ามีใครสักคนด่าท่านด้วยถ้อยคำอย่างหนึ่งที่ทำให้รู้สึกเจ็บช้ำใจยิ่งนัก ท่านก็จะจำถ้อยคำนั้นไว้ได้ เมื่อใดที่ได้ยินถ้อยคำนั้นอีก (หรือแม้แต่เพียงนึกถึง) ก็จะเกิดความรู้สึกเจ็บช้ำใจ ขึ้นมาได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตราบเท่าที่ยังจำถ้อยคำที่ด่าว่านั้นไว้ เช่นกัน ตรงกันข้ามถ้าท่านได้พบเห็นสิ่งสวยงามด้วยผัสสะสัมผัสจนเกิดความรู้สึกขึ้นและจำไว้ เมื่อใดที่ท่านได้เห็นอีกจากผัสะสัมผัส ท่านก็จะดึงจากการจำนั้นขึ้นมาเพิ่มเติมปรุงแต่ง นี่แหละที่เค้าเรียกว่า “จิตสังขาร” หรือ “จิตคิดปรุงแต่ง” ต่อไป

คำอธิบายดังนี้ อาจเปรียบเทียบได้ว่า ทำให้มองเห็นการใช้คำสั่งในลักษณะที่เป็นโปรแกรมเก็บไว้ในจิตที่เรียกว่า “ความจำ” อันมีลักษณะเดียวกับซอฟท์แวร์โปรแกรมใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยโปรแกรมคำสั่งเข้าไว้ในจิต และนำ “ความจำ” เข้ามาสู่สมอง (Loading to Brain) เช่นเดียวกับการนำโปรแกรมใช้งานเข้าสู่คอมพิวเตอร์ จากนั้นมนุษย์เราก็จะมีพฤติกรรมไปตามโปรแกรมที่นำเข้าไปนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก

0 Comments:

Please Comments

Sponsored Links

Thaifossil.com      ”ของแปลกของหายาก      Menu Domain      Thai Cosmic

Text Link Ads