Tuesday, August 7, 2007

บิ๊กแบงภายในที่มี อิสรภาพทางใจจึงเกิด


มนุษย์ไม่ได้เกิดมาในโลกแต่เพียงลำพัง นอกจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเรายังมีเพื่อนร่วมโลกจำนวนมากมายมหาศาล ไกลออกไปยังห้วงจักรวาลเรายังอาจมีเพื่อนที่ยังไม่รู้จักกันอีกจำนวนไม่ได้ มนุษย์ไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยวท่ามกลางจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาล หากแต่มนุษย์ยังกำลังอยู่ท่ามกลางสิ่งไร้ชีวิตจำนวนมหึมาไม่ว่าจะเป็นดวงดาว ฝุ่นธุลี หรือวัตถุหลากหลายประเภท พุทธศาสนาตระหนักถึงความเป็นจริงอันนี้ จึงได้วางแนวทางเอาไว้สำหรับให้มนุษย์นำไปปฏิบัติทั้งนี้ก็เพื่อช่วยให้มนุษย์ปรับตัวให้กลมกลืนกับความเป็นไปของจักรวาล มนุษย์นั้นมองได้หลายแง่ มนุษย์อาจมีความสามารถที่จะกำหนดความเป็นไปหลายอย่างในชีวิตตนเอง แต่กระนั้นสิ่งหนึ่งที่เป็นแง่จริงของความเป็นมนุษย์ที่คงไม่มีใครปฏิเสธก็ คือ ในบางสถานการณ์มนุษย์ไม่ได้เป็นอิสระเด็ดขาดจากจักรวาล เราอาศัยอยู่บนดวงดาวเล็กๆดาวหนึ่งที่เรียกว่าโลก โลกใบนี้ก็ไม่ได้เป็นอิสระเลย มันต้องหมุนไปตามทิศทางที่ถูกกำหนดโดยดวงดาวดวงอื่นๆ ในระบบสุริยะ ระบบสุริยะเองก็หาได้เป็นอิสระไม่ มันยังต้องหมุนเหวี่ยงตัวมันเองไปตามทิศทางที่ถูกกำหนดโดยกลุ่มดาวกลุ่มอื่นๆ ภายในกาแล็กซีนี้ และกาแล็กซีที่เราอยู่นี้ก็ได้เป็นอิสระไม่มันยังต้องเปลี่ยนแปลงไปตามทิศทางที่ถูกกำหนดโดยกาแล็กซีอื่นๆ สรรพสิ่งในจักรวาลต่างอิงอาศัยและสัมพันธ์เนื่องถึงกัน

ในเรื่องของวิทยาศาสตร์ โดยทั่วไปอาจจะถือได้ว่าโลกเป็นระบบ (System) ที่อยู่นิ่งระบบหนึ่ง เราอาจจะเลือกกำหนดว่าต้นไม้และบ้านอยู่นิ่ง สัตว์ รถยนต์ และเครื่องบินนั้นเคลื่อนที่ สำหรับนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ โลกไม่ได้อยู่นิ่งเลย แต่กำลังเคลื่อนที่ไปในอากาศในลักษณะอันแสนซับซ้อน คือ นอกจากจะหมุนรอบตัวเองวันละ ๑ รอบ ด้วยความเร็วถึง ๑,๐๐๐ ไมล์ต่อชั่วโมง ยังโคจรรอบดวงอาทิตย์ ด้วยความเร็ว ๒๐ ไมล์ต่อวินาที และยังเคลื่อนที่ในลักษณะอื่นที่เราไม่คุ้นอีกหลายอย่าง ดวงจันทร์ก็มิได้โคจรรอบโลกดังที่เข้าใจกันทั่วๆ ไป แต่ทั้งโลกและดวงจันทร์ต่างโคจรรอบกันและกัน หรือพูดให้ถูกก็คือ ทั้งโลกและดวงจันทร์ต่างโคจรรอบจุดศูนย์ถ่วงอันเดียวกัน ยิ่งกว่านั้นระบบสุริยะทั้งหมดกำลังเคลื่อนที่อยู่ภายในกลุ่มดาวกลุ่มดาวกลุ่มหนึ่งด้วยความเร็ว ๑๓ ไมล์ต่อวินาที กลุ่มดาวกลุ่มนี้กำลังเคลื่อนที่อยู่ภายในกาแล็กซีด้วยความเร็ว ๒๐๐ ไมล์ต่อวินาที และกาแล็กซีทั้งกาแล็กซีก็เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว ๑๐๐ ไมล์ต่อวินาทีเมื่อเทียบกับกาแล็กซีอื่นที่อยู่ไกลออกไป การเคลื่อนที่ทั้งหมดที่กล่าวแล้วนี้เป็นไปคนละทิศละทาง

จะว่าไปแล้วจำเพาะโลกที่เราอยู่นี้ มนุษย์เพิ่งครอบครองเป็นเจ้าของเมื่อไม่กี่หมื่นปีมานี้เอง ระยะเวลาตามที่กล่าวมานี้นับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับอายุอันยาวนานของโลก ในอดีตนั้นโลกใบนี้เคยมีสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆเป็นผู้ครอบครองเป็นเจ้าของมาไม่รู้กี่รุ่น ผู้ครอบครองต่างกันมาแล้วก็ไป ไม่มีใครอาจยืนยงอยู่คู่โลก ปัจจุบันมนุษย์คือผู้ครอบครองโลก ด้วยความรู้สึกว่าตนเองคือผู้ครอบครองนี่เอง ที่บางครั้งอาจทำให้เราลืมไปว่าแท้ที่จริงนั้น มนุษย์ไม่มีสิทธิ์อ้างว่าโลกนี้เป็นของตนเพียงผู้เดียว ความคิดที่ว่าเราคือเจ้าของอาณาบริเวณทั้งหมดในโลกเป็นเพียงการทึกทักที่ไม่มีความชอบธรรมใดๆ รองรับทั้งสิ้น พืช สัตว์ ตลอดจนชีวิตที่เรายังไม่รู้จักจำนวนมหาศาลในโลกนี้มีอะไรต่างจากคน สิ่งเหล่านี้อาจต่างจากเราในแง่ที่ยังมีระดับของพัฒนาการต่ำกว่าเรา แต่นี่ก็ไม่ใช่สิ่งสำหรับใช้อ้างว่ามนุษย์สามารถเอาเปรียบพวกเขาได้ คนแข็งแรงไม่มีสิทธิ์เอาเปรียบคนอ่อนแอฉันใด คนฉลาดไม่มีสิทธิ์เอาเปรียบคนไม่ฉลาดฉันใด มนุษย์ก็ไม่มีสิทธิ์เอาเปรียบเพื่อนร่วมโลกเหล่านั้นฉันนั้น

ความเป็นอิสระจึงมีความหมายไปได้สองแง่อยู่เสมอ หนึ่งเราพยามเพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นอิสระ สองเพื่อให้ได้มาซึ่งจุดเหนือโลก แต่ปัญหามีอยู่ว่า จุดเหนือโลกเป็นจุดที่ทำให้มนุษย์อิสรเสรีเต็มที่เปรียบประหนึ่งเป็นพระเจ้าเอง หรือว่าเป็นจุดภายนอกที่มนุษย์เสรีพอที่จะเผชิญหน้ากับพระเจ้า และตระหนักในขณะนั้นถึงความไม่อิสรเสรีอย่างสมบูรณ์ของตน ว่าอย่างน้อยก็ยังต้องยึดมั่นในพระเจ้า ความเป็นอิสระที่ไม่มีข้อผูกพันและที่ไม่มีความรับผิดชอบอาจจะปรากฏในรูปของความไม่แยแส ความไม่ใช่ธุระของตนต่อโลกและเพื่อนมนุษย์ ความเพิกเฉยต่อความตาย วันหนึ่งความตายจะต้องมาถึง ทำไมจะต้องตื่นเต้น ความรักนั้นเป็นไปได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับเวลา ขึ้นอยู่กับความแน่นอน และจะต้องผ่านพ้นเปลี่ยนแปลงไป ชีวิตดำรงอยู่อย่างไม่มีอารมณ์ไม่มีประสงค์ที่จะเป็นหรือทำอะไรเป็นพิเศษ ทำไปเท่าที่ได้รับการร้องเรียนหรือเท่าที่ควรจะทำ ชีวิตที่ไม่มีขอบฟ้า ไม่มีความไกล ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต ไม่มีอะไรหวังอีกต่อไปดำรงอยู่เพียงที่นี่และขณะนี้

ทัศนะในการมองโลกตามที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นการศึกษาเชิงวิเคราะห์พุทธศาสนานิกายเซน ของท่าน รองศาสตราจารย์ ดร. สมภาร พรมทา และยังกล่าวอีกว่า ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่บางศาสนาให้ความสำคัญมาก ซึ่งถือว่ามนุษย์เราเป็นเพียงผู้อาศัยโลกเหมือนกับพืชและสัตว์ต่างๆ ดังนั้นในการดำรงชีวิต เราจำต้องตระหนักถึงความชอบธรรมและสิทธิที่พืชและสัตว์ต่างๆ ดังนั้นในการดำรงชีวิต เราจำต้องตราหนักถึงความชอบธรรมและสิทธิที่พืชและสัตว์อื่นสามารถอ้างได้ในการดำรงชีพของมัน สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ เป็นสิทธิที่ทุกชีวิตมีอยู่เท่าเทียมกัน เราจะเข้าใจทัศนะในการมองโลกอย่างที่ว่านี้ดีขึ้น หากจะลองพิจารณาดูตัวอย่างบทกวีตัวอย่างต่อไปนี้

ดอกไม้ ณ ซอกกำแพง…
ฉันถอนเจ้าขึ้นมาจากซอกำแพง…
ถือเจ้าเอาไว้ในมือ…
ดอกไม้น้อยๆ เอย ถ้าฉันสามารถเข้าใจ…
ว่าเจ้าคืออะไร…
ฉันคงเข้าใจว่าพระเจ้าและมนุษย์คืออะไร…

บทกวีข้างต้นนี้เป็นของเทนนิสัน กวีชาวอังกฤษ เนื้อหาของบทกวีบรรยายภาพความนึกคิดของผู้เขียนที่มีต่อดอกไม้ที่เขาพบที่ซอกกำแพงแห่งหนึ่ง โปรดสังเกตว่า เมื่อแทนนิสันพบดอกไม้ เขาได้ถอนมันขึ้นมาทั้งต้น เพื่อพินิจดูความเร้นลับอันแฝงอยู่ในต้นไม้นั้น เมื่ออ่านบทกวีบทนี้ เราอาจเข้าใจความนึกคิดที่ละเอียดลึกซึ่งของท่านผู้แต่งที่เพียงแต่มองเห็นต้นไม้ไร้ค่าต้นหนึ่งที่ซอกกำแพง ก็สามารถมองเห็นความเร้นลับของจักรวาลทั้งจักรวาล ต้นไม้ที่เทนนีสันเห็นอาจมีคนหลายคนเคยเห็นมันมาก่อน แต่ทุกคนอาจมองไม่เห็นบางสิ่งที่เทนนีสันเห็นโดยผ่านทางต้นไม้นั้น นี่คือความละเอียดอ่อนในการมองสิ่งต่างๆ ของกวี เทนนีสันอาจประสบความสำเร็จในการบรรยายความนึกคิดของตนเองในบทกวีนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนว่าเขาจะมองข้ามไปก็คือต้นไม้เล็กๆ ต้นนั้นที่เขาถอนมันขึ้นมา ต้นไม้นั้นมีชีวิต และชีวิตของมันก็จบสิ้นลงพร้อมกับมือเทนนีสันที่ดึงมันขึ้นจากซอกกำแพง หากเทนนีสันไม่คิดว่ามนุษย์คือผู้ครอบครองโลกที่สามารถถอนต้นไม้ที่เกิดขึ้นในอาณาบริเวณที่เขาเป็นเจ้าของ เขาก็คงจะเพียงแต่พินิจดูต้นไม้นั้นโดยไม่เข้าไปแตะต้องล่วงล้ำสิทธิส่วนตัวของต้นไม้นั้น เทนนีสันมีสิทธิ์จะเพ่งพินิจความเร้นลับอันแฝงอยู่ในต้นไม้นั้น แต่เขาไม่มีสิทธิ์ที่จะดึงต้นไม้นั้นออกมาจากซอยกำแพง เรื่องนี้บางทีเราอาจเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย ในชีวิตประจำวันเรา ก็ทำอย่างที่เทนนีสันทำ เราชอบดอกไม้แล้วเราก็เด็ดดอกไม้นั้นมาปักแจกกัน นี่เป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่เรื่องเล็กน้อยปกติธรรมดาอย่างนี้บางศาสนากลับสอนให้เห็นเป็นเรื่องใหญ่ คนเราไม่ค่อยรู้สึกว่าตนเองผิดที่ถอนต้นหญ้าหรือฆ่าแมลงตัวเล็กๆตาย แต่สำหรับศาสนาเซนสิ่งเหล่านี้ต่างก็มีชีวิต เราไม่อาจสรุปได้ว่าชีวิตของเราสำคัญกว่าชีวิตเล็กน้อยเหล่านี้ หรืออาจจะกล่าวได้อีกว่า “มนุษย์มีสิทธิ์จะชมความงามของธรรมชาติ แต่มนุษย์ไม่มีสิทธิ์ที่จะทำลายธรรมชาติ” บางท่านที่อ่านเรื่องราวทำนองนี้แล้วอาจมีความสงสัยว่า ชีวิตของคนเรานั้นบางครั้งก็ไม่อาจทำในสิ่งที่เป็นอุดมคติได้เสมอไป มนุษย์จำเป็นต้องทำสิ่งที่ถูกกำหนดให้ทำโดยธรรมชาติ ทั้งนี้เพื่อความอยู่รอดแห่งเผ่าพันธุ์ของมนุษย์เอง โดยที่การกระทำเหล่านี้ไม่มีทางที่จะไม่ให้กระทบถึงชีวิตอื่นในโลกนี้ ยกตัวอย่างเช่นเราต้องกินอาหารอาหารที่คนเรากินมาจากไหน จากพืชและสัตว์ หากมนุษย์ยังไม่อยากตาย มนุษย์จำเป็นที่จะต้องเบียดเบียนชีวิตของสิ่งเหล่านี้ ในความนึกคิดเราอาจวาดภาพการไม่เบียดเบียนเพื่อนร่วมโลกได้ แต่ในความเป็นจริงไม่มีทางที่จะหนีพ้นจากการเบียดเบียนพวกเขาเลย เพราะธรรมชาติของเราถูกสร้างมาเพื่อเบียดเบียนชีวิตอื่นอยู่แล้ว

ความสงสัยข้างต้นนี้ที่จริงเป็นความสงสัยที่ค่อนข้างมีคนคิดกันมากในวงการปรัชญาสาขา จริยศาสตร์ ประเด็นของความสงสัยอาจสรุปสาระสำคัญได้ว่าเวลาที่เราบอกว่าคนเราควรทำเช่นนั้นเช่นนี้ การบอกนั้นมีนัยแฝงอยู่แล้วว่า สิ่งที่เราบอกว่าคนควรทำเป็นสิ่งที่คนสามารถทำได้ เช่น เราบอกว่าคนควรเสียสละ การกล่าวเช่นนี้แฝงความเชื่ออย่างหนึ่งเอาไว้ คือ ความเชื่อถือที่ว่าคนเราสามารถเสียสละได้ถ้าเขาต้องการทำ หากเราเชื่อว่ามนุษย์มีธรรมชาติอย่างหนึ่ง คือ เสียสละไม่ได้ เราก็คงไม่บอกว่าคนเราควรเสียสละ เพราะบอกไปแล้วจะมีความหมายอะไร สรุปความว่าเวลาที่เราต้องการมาตรฐานทางศีลธรรมบางอย่าง สำหรับชี้บอกว่านี่คือความดี นี่คือสิ่งที่มนุษย์ควรทำ สิ่งแรกที่สุดที่เราจะต้องคำนึงถึงก็คือ สิ่งที่เรากำลังชี้ชวนให้คนทำนั้นขัดกับธรรมชาติของคนหรือไม่ หากขัดกับธรรมชาติ การชี้ชวนนั้นย่อมไร้ความหมาย เพราะย่อมไม่มีใครสามารถทำตามได้ ขอให้นึกถึงภาพคนหนึ่งที่พยายามชี้ชวนคนทั้งโลกว่าควรทำสิ่งหนึ่ง แต่สิ่งที่เขากำลังชี้ชวนนั้น ไม่มีมนุษย์คนใดสามารถทำได้ เราคงไม่อยากเรียกสิ่งที่เขาพยายามชี้ชวนนั้นว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ ความเคลือบแคลงตามที่กล่าวมานี้ การศึกษาเชิงวิเคราะห์พุทธศาสนานิกายเซน ของ รองศาสตราจารย์ ดร. สมภาร พรมทา ยังกล่าวไว้ในการศึกษาอีกว่า หากให้ศาสนาบางศาสนาตอบ อย่างนิกายเซน เซนก็คงจะตอบว่าเวลาที่เรากล่าวถึงความเคารพในสิทธิของชีวิตอื่นที่อยู่ร่วมโลกกับเรา เราต้องแยกประเด็นการพิจารณาออกเป็นสองประเด็น กล่าวคือ

๑.ในสถานการณ์นั้นเราสามารถเลือกที่จะไม่เบียดเบียนพวกเขาได้ หรือไม่ในกรณีที่เราสามารถเลือกได้เราย่อมไม่มีสิทธิ์ที่จะก้าวก่ายแทรกแซงชีวิตเหล่านั้น กรณีของเทนนีสันเองก็อยู่ในสถานการณ์ที่สามารถเลือกที่จะไม่ทำอันตรายแก่ต้นไม้ที่ซอกกำแพงได้ แต่เขาก็ยังทำลายมัน! การที่เซนเสนอความคิดเรื่องการเคารพสิทธิในชีวิตของสิ่งต่างๆ เซนเสนอในกรณีที่เราสามารถเลือกได้ว่าจะละเมิดชีวิตของสิ่งนั้นๆหรือไม่ โดยที่ทางเลือกทั้งสองนี้ไม่มีผลกระทบอันใดต่อการดำรงชีพของมนุษย์ กล่าวคือหากเราเลือกที่จะละเมิด การละเมิดนั้นก็ไม่ใช่สิ่งสนับสนุนการดำรงชีพของมนุษย์ (เช่น กรณีที่เทนนีสันถอนต้นไม้ การที่เขาถอนต้นไม้ต้นนั้นไม่ทำให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้นหรือสะดวกสบายขึ้น) หรือหากเราเลือกที่จะไม่ละเมิด การไม่ละเมิดนั้นก็ไม่ใช่สิ่งตัดรอนการดำรงชีพของเรา (เช่น หากเทนนีสันเลือกที่จะไม่ถอนต้นไม้นั้น ชีวิตเขาก็ยังเป็นปกติ การถอนต้นไม้ไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีพของเขาเลย)

๒.แต่ในบางสถานการณ์เราไม่สามารถเลือกได้ เรามีทางเลือกอยู่เพียงทางเดียวเท่านั้น คือ ต้องละเมิดชีวิตสิ่งอื่นเพื่อความอยู่รอดของเราเอง ในสถานการณ์เช่นนี้เซนไม่ได้ขอร้องหรือชี้ชวนให้เราทำสิ่งที่ขัดกับธรรมชาติของเราเลย พระในนิกายเซนก็ยังต้องฉันอาหาร อาหารที่ฉันแม้จะเป็นพืชผัก แต่พืชผักนั้นก็เป็นสิ่งมีชีวิต ตราบใดที่คนเรายังต้องกินอาหาร ตราบนั้นพระเซนก็ยังจะต้องละเมิดสิทธิในชีวิตของพืชผักอยู่ตลอดไป

จากที่กล่าวมานี้เองการศึกษาเชิงวิเคราะห์พุทธศาสนานิกายเซน สรุปได้ว่า เวลาที่เราพิจารณาถึงทัศนะในการดำเนินชีวิตที่เน้นเรื่องการเคารพในสิทธิชีวิตของสิ่งต่างๆ เราต้องเข้าใจว่าเราเคารพสิทธิในชีวิตของสิ่งต่างๆ ในกรณีที่เราสามารถเลือกได้เท่านั้น กล่าวให้ง่ายก็คือ ก่อนที่เราจะทำอะไรลงไปอันเป็นการลิดรอนชีวิตของสิ่งอื่น ให้เราลองตั้งคำถามว่าเราจำเป็นต้องทำอย่างนั้นหรือไม่ หากจำเป็นก็ไม่เป็นไร เพราะธรรมชาติสร้างชีวิตของเราให้จำต้องทำอย่างนั้น แต่ถ้าไม่จำเป็นเราก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะลิดรอนชีวิตของเขา มนุษย์เราทุกวันนี้ต่างก็มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการทำลายชีวิตสิ่งอื่น ขอให้เราลองตั้งคำถามกันดูว่า ในกรณีที่เราละเมิดชีวิตเพื่อนร่วมโลกของเราเองนั้น มีสักกี่กรณีที่เป็นความจำเป็นจริงๆ และมีกี่กรณีที่เราละเมิดทั้งที่ไม่มีความจำเป็นใดๆ ทั้งสิ้น การล่าสัตว์เพื่อความสนุกสนานซึ่งเรียกเสียหรูหราว่าเกมกีฬา การทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้สัตว์เป็นเครื่องมือในการทดลองซึ่งยังผลให้สัตว์เหล่านั้นล้มตาย หรือไม่ก็พิกลพิการอย่างน่าเวทนา ตลอดจนการกักขังสัตว์ไว้ในสวนสัตว์ที่ทำให้สัตว์เหล่านั้นจำต้องทนอยู่ภายในอาณาบริเวณที่จำกัดเพียงความบันเทิงของมนุษย์ สิ่งเหล่านี้เราต้องถามตัวเองดูว่ามันเป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่สำหรับการดำรงชีพของมนุษย์ เรามีอิสระที่จะทำอะไรก็ได้ ที่จะเลือกทำหรือไม่ทำก็ได้ เคยมีคนกล่าวไว้ว่า
“ คนธรรมดาคือ พุทธะ กิเลสคือการรู้แจ้ง ความคิดที่โง่เขลาในอดีตทำให้คนเป็นคนธรรมดา ความคิดที่สว่างโพลงในปัจจุบันทำให้คนเป็นพุทธะ ความคิดที่คอยใฝ่หาสิ่งสนองตอบความอยากทางอายตนะในอดีตคือกิเลส ส่วนความคิดที่เป็นอิสระจากความยึดติดปัจจุบันคือความรู้แจ้ง ”

ข้อความนี้เป็นของท่านฮุยเน้ง เป็นข้อความที่ค่อนข้างจะชวนฉงนแก่ชาวพุทธเถรวาท ท่านฮุยเน้ง กล่าวว่าปุถุชนคนธรรมดาคือ พุทธะ กิเลสคือ โพธิ การกล่าวเช่นนี้ดูเหมือนการเล่นคำเพื่อผลในทางกระตุ้นความสนใจ แต่ที่จริงไม่ใช่ การกล่าวเช่นนี้เป็นการยืนยันจริง ในทัศนะของท่านฮุยเน้ง ปุถุชนกับพระอริยะไม่มีความแตกต่างกัน กิเลสกับความรู้แจ้งก็ไม่มีอะไรแตกต่างกัน ทั้งพระอริยะและปุถุชนต่างก็มีพุทธภาวะเสมอเหมือนกันเมื่อมองอย่างนี้ เราย่อมไม่เห็นความแตกต่าง ส่วนกิเลสกับความรู้แจ้งก็เช่นกัน สองสิ่งนี้ปกติคนมักมองว่าตรงข้ามกัน แต่ท่านฮุยเน้ง มองว่าทั้งสองอย่างนี้เป็นธรรมชาติร่วมกันของคน คนเรานั้นมีธรรมชาติอย่างหนึ่งคือ ธรรมชาติที่จะยึดมั่นหรือปล่อยวางในสิ่งที่ตนประสบก็ได้ เมื่อใดที่คนเรายึดมั่น เมื่อนั้นเราอาจจะเรียกว่าเขามีกิเลส เมื่อใดที่เขาปล่อยวาง เมื่อนั้นเราอาจจะเรียกเขาว่ารู้แจ้ง กิเลสหรือการรู้แจ้งไม่ใช่สาระหรือธรรมชาติที่เที่ยงแท้ในตัวคน ในวันหนึ่งๆ เราอาจเกิดกิเลสหรือรู้แจ้งสลับเปลี่ยนกันไปไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ที่เป็นเช่นนี้สืบเนื่องมาจากธรรมชาติของเราที่ถูกสร้างมาเช่นนั้นคนคือสิ่งที่สามารถจะคิดในเชิงสร้างสรรค์ก็ได้หรือคิดในเชิงทำลายก็ได้ เราจึงมีอิสระที่จะกระทำลงไป

ความเป็นอิสระจึงมีความหมายไปได้สองแง่อยู่เสมอ เราพยามเพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นอิสระ เพื่อให้ได้มาซึ่งจุดเหนือนอกโลก แต่ปัญหามีอยู่ว่า จุดเหนือนอกโลกเป็นจุดที่ทำให้มนุษย์อิสระเสรีเต็มที่เปรียบประหนึ่งเป็นพระเจ้าเอง หรือว่าเป็นจุดภายนอกที่มนุษย์เสรีพอที่จะเผชิญหน้ากับพระเจ้า และตระหนักในขณะนั้นถึงความไม่อิสระเสรีอย่างสมบูรณ์ของตน ว่าอย่างน้อยก็ยังต้องยึดมั่นในพระเจ้า ความเป็นอิสระที่ไม่มีข้อผูกพันและที่ไม่มีความรับผิดชอบอาจจะปรากฏในรูปของความไม่แยแส ความไม่ใช่ธุระของตนต่อโลกและเพื่อนมนุษย์ ความเพิกเฉยต่อความตาย วันหนึ่งความตายจะต้องมาถึง ทำไมจะต้องตื่นเต้น ความรักนั้นเป็นไปได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับเวลา ขึ้นอยู่กับความแน่นอน และจะต้องผ่านพ้นเปลี่ยนแปลงไป ชีวิตดำรงอยู่อย่างไม่มีอารมณ์ ไม่มีประสงค์ที่จะเป็นหรือทำอะไรเป็นพิเศษ ทำไปเท่าที่ได้รับการร้องเรียนหรือเท่าที่ควรจะทำ ชีวิตที่ไม่มีขอบฟ้า ไม่มีความไกล ไม่มีอดีตไม่มีอนาคตไม่มีอะไรหวังอีกต่อไปดำรงอยู่เพียงที่นี่และขณะนี้ ความเป็นอิสระที่ทำให้หลงผิดและปรากฏในลักษณะต่างๆ ทำให้ความเป็นอิสระเองเป็นสิ่งที่น่าสงสัยแคลงใจเหตุฉะนี้ เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งความเป็นอิสระที่แท้จริงจึงไม่เพียงแต่จะต้องมองเห็นและเข้าใจถึงความหมายสองด้านของมันเท่านั้น แต่ยังต้องตระหนักในขอบเขตของความอิสระด้วย เพราะอิสระที่สมบูรณ์สูงสุดนั้นหามีไม่ แม้แต่ความคิดก็มิได้เกิดขึ้นในสูญญากาศ ต้องมีต้นเหตุหรือความคิดต่อเนื่อง ชีวิตตัวเราซึ่งเป็นผู้คิดก็ต้องพึ่งพาถือกำเนิดมาจากชีวิตอื่น ไม่มีอิสรภาพหรือเสรีภาพที่อยู่โดดเดียว ที่ไหนมีเสรีภาพที่นั่นย่อมีการต่อสู้กับความไม่มีเสรีภาพด้วย การศึกษาเชิงวิเคราะห์พุทธศาสนานิกายเซน ของ รองศาสตราจารย์ ดร. สมภาร พรรมทา ยังกล่าวต่ออีกว่า เหตุฉะนี้จึงมีขอบเขตจำกัดของเสรีภาพหรืออิสรภาพสามอย่างดังนี้ คือ

ขอบเขตจำกัดประการที่หนึ่งของอิสรภาพก็คือ เราจะมีอิสรภาพที่แท้จริงได้ก็ต่อเมื่อเราพัวพันอยู่ในโลก ในขณะเดี่ยวกัน อิสรภาพมิอาจเกิดขึ้นได้เมื่อเราละทิ้งโลกนี้ไป เป็นอิสระอยู่ในโลกหมายถึงการมีทีท่าที่เหมาะสมต่อโลก “อยู่กับโลกและขณะเดียวกันก็ไม่อยู่กับโลก” / “อยู่ในโลกและขณะเดียวกันก็อยู่นอกโลก” ปราชญ์อินเดียเคยกล่าวไว้ในภควัทตีว่า “จงทำงานแต่อย่าไขว่คว้าหาผลของงาน” เล่าสือ ปราชญ์จีนก็กล่าวทำนองเดียวกันว่า “จงทำด้วยการไม่ทำ” ประโยคที่กินความหมายลึกซึ้งกว้างขวางทางปรัชญาดังกล่าวจะมีความหมายอย่างไร แค่ไหน และเพียงไรนั้น แถลงกันไม่มีที่สิ้นสุด เป็นการเพียงพอสำหรับเราที่ทราบว่ามีปราชญ์บางคนที่แสดงออกถึงความอิสระภายใน อิสระทางจิตใจ ความอิสระจากโลกมิอาจแยกตัวหรือหลุดพ้นจากการพัวพันอยู่ในโลกหรืออยู่กับโลกนี้

ขอบเขตจำกัดประการที่สองของอิสรภาพก็คือ โดยลำพังตัวมันเองแล้วอิสรภาพคือความว่างเปล่า เพราะอิสรภาพนั้นหมายถึงการหลุดพ้นจากความกลัว ถึงการเพิกเฉยไม่ใยดีต่อทุกข์สุข ถึงความไม่หวั่นไหว ไม่ถูกกระทบกระเทือนด้วยความรู้สึกและความใคร่ ความอยาก แต่อะไรเล่าที่มีอิสระ! สิ่งที่จะมีอิสระในที่นี้ก็คือจุดของความเป็นตัวเรา คือมนุษย์ นิตเชย์ (Nietzsche) เคยมีความคิดรุนแรง มนุษย์จะมีอิสรภาพต่อเมื่อไม่มีพระผู้เป็นเจ้า หรือถ้าจะใช้ภาษาของนิตเชย์ เมื่อพระผู้เป็นเจ้าถึงแก่อนิจกรรม เพราะตราบใดที่ยังมีพระผู้เป็นเจ้า มนุษย์จะไม่เติบโตเพราะต้องคอยอ้างอิงพึ่งพาพระผู้เป็นเจ้าอยู่เนืองนิจ

ขอบเขตจำกัดประการที่สามของอิสรภาพก็คือ ลักษณะธรรมชาติพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ในฐานะเป็นคน เราจำต้องมีความผิดพลาด เมื่อเราตื่นขึ้นในจิตสำนึกครั้งแรก เราก็ตระหนักเสียแล้วว่าเราได้หลงผิด เมื่อเรามีความหลง ความลืม ความคลุมเครือ ความกระจ่างชัดในจิตใจ ความผิดพลาด เช่นนี้ เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะสามารถตะเกียกตะกายให้ได้มาซึ่งอิสรภาพอันสมบูรณ์ เมื่อเราทำโดยไม่รู้ การกระทำของเราก็ไม่อาจดีไปได้อย่างแท้จริง แต่เราคิดและเข้าใจว่าการกระทำนั้น ดี ถูกต้อง และมีความรู้สึกภาคภูมิ มีความมั่นคง แต่คานท์ (Kant) ได้แสดงให้เห็นว่า ในการกระทำที่ดีทั้งหลายแหล่นั้น ก็ยังมีเหตุผลักดันอยู่เบื้องหลังที่แอบแฝงซ่อนเร้น และอาจไม่อยู่ในจิตสำนึก ซึ่งคำนึงถึง “ตัวเอง” อยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การกระทำนั้นไม่บริสุทธิ์ ไม่เสรี และไม่อิสระโดยสิ้นเชิง...ธรรมชาติเช่นนี้เรามนุษย์ไม่อาจขจัดเสียได้

เราไม่มีความเชื่อมั่นในปราชญ์ที่ไม่ยอมให้มีการโต้แย้ง เราไม่ต้องการความเพิกเฉย ไม่ใยดี ความไม่หวั่นไหว ความไม่ขึ้นและไม่ลง เพราะลักษณะของความเป็นมนุษย์จะต้องประสบ เรียนรู้ และตระหนักด้วยตัวเองว่าอะไรเป็นอะไร ในกิเลสและความกลัวด้วยน้ำตาแห่งความเศร้าและความทุกข์ และด้วยนำตาแห่งความยินดีปรีดา ฉะนั้น ด้วยการกระตุ้นของความผูกพันอยู่กับความเคลื่อนไหวของอารมณ์ และมิใช่ด้วยการขจัดอารมณ์เราจึงจะเข้าถึงตัวเราเอง และรู้จักตัวเราเอง เราจึงจะรับทุกข์โดยไม่ตีโพยตีพาย ถึงแม้จะหมดศรัทธาก็ไม่ยอมให้มาบั่นทอนตัวเอง ถึงแม้จะไหวหวั่นกระทบกระเทือน ก็ไม่ยอมให้มาทำลายชีวิตโดยสิ้นเชิง ในขณะเดียวกันอิสรภาพทางใจจะเพิ่มพูนแข็งแกร่งขึ้นในตัวเรา มีประโยคที่ว่า "สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น" (สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย) คำกล่าวประโยคนี้ เป็นของท่าน พุทธทาสภิกขุ ที่เคยกล่าวไว้ ควรจะถือว่าเป็นหัวใจของพุทธศาสนา เพราะมีเรื่องราวกล่าวอยู่ในบาลีว่า เมื่อมีผู้มาทูลขอให้พระพุทธองค์ทรงประมวลคำสอนทั้งสิ้น ให้เหลือเพียงประโยคสั้นๆ เพียงประโยคเดียว พระองค์ก็ตรัสประโยคนี้ และทรงยืนยันว่า นี่แหละคือใจความของคำสอนทั้งหมด ถ้าได้ปฏิบัติในข้อนี้ ก็คือได้ปฏิบัติทั้งหมดของพระองค์ ทรงยืนยันว่า ถ้าได้ฟังคำนี้ ก็คือได้ฟังทั้งหมด ถ้าได้รับผลจากการปฏิบัติข้อนี้ ก็คือได้รับผลจากการปฏิบัติทั้งหมด ฉะนั้น เราจะมองเห็นได้ทันทีว่า การศึกษาธรรมะทั้งหมด ก็คือเรียนเพื่อไม่ให้ยึดมั่นในสิ่งใดๆ

การคิดอย่างปราชญ์และปัญญาจากภายใน หมายถึง การฝึกฝนต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพทางใจหรืออิสรภาพภายใน แต่มิใช่การเป็นเจ้าของอิสรภาพนั้น เพราะเมื่อใดที่ได้อิสรภาพทางใจมาเป็นเจ้าของโดยสมบูรณ์ เมื่อนั้นก็หยุดความเป็นปราชญ์ และกลายเป็นผู้สำเร็จ... “บิ๊กแบงภายในที่มี อิสรภาพทางใจจึงเกิด”

0 Comments:

Please Comments

Sponsored Links

Thaifossil.com      ”ของแปลกของหายาก      Menu Domain      Thai Cosmic

Text Link Ads