Tuesday, August 7, 2007

ใจอยู่ในกายหรือกายอยู่ในใจ (ทางเลือกหลุมดำหรือบิ๊กแบง)


ความอิ่มเอิบ ด้วยอารมญ์ความรู้สึก ทางรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส นั้น เป็นอาหารของฝ่ายภายนอก ความอิ่มเอิบด้วยปิติและปราโมช อันเกิดจากความที่ใจสงบจากอารมณ์เป็นอาหารของฝ่ายภายใน อุดมคติของชีวิต คือ ความถึงที่สุดแห่งอารยธรรม ทั้งฝ่ายภายนอกและฝ่ายภายใน (ทางโลก กับ ทางธรรม) เพราะฉะนั้น ชีวิตย่อมต้องการอาหารทั้งฝ่ายภายนอกและฝ่ายภายใน ถ้ามีเพียงอย่างเดียว ชีวิตนั้น ก็มีความเป็นมนุษย์ เพียงครึ่งเดียว หรือ ซีกเดียวเท่านั้น

เราหาความสำราญให้แก่กายของเราได้ไม่สู้ยากนัก (ภายนอก) แต่การหาความสำราญให้แก่ใจ (ภายใน) นั้นยากเหลือเกิน ความสำราญกาย เห็นได้ง่ายรู้จักง่าย ตรงกันข้ามกับ ความสำราญทางใจ แต่ไม่มีใครเชื่อ เช่นนี้มากกันนัก เพราะเขาเชื่อว่า ไม่มีความสำราญอย่างอื่นที่ไหนอีกนอกจากความสำราญทางกาย และเมื่อกายสำราญแล้วใจก็สำราญ ความสำราญทางกาย หรือฝ่ายโลกนั้นต้องดื่มต้องกินอยู่เสมอจึงจะสำราญ ดังที่กล่าวไว้ในบทก่อนหน้านี้ในเรื่องของการบริโภคนิยม แต่ที่แท้มันเป็นเพียง การระงับ หรือกลบเกลื่อนความหิวไว้ทุกชั่วคราวที่หิวเท่านั้น ส่วนความสำราญ ฝ่ายใจภายใน หรือฝ่ายธรรมนั้น ไม่ต้องดื่มไม่ต้องกินก็สำราญอยู่เอง เพราะมันไม่มีความหิวไม่ต้องดื่มกิน ที่กล่าวนี้ ผู้ที่นิยมความสำราญทางกาย อย่างเดียวอาจฟังไม่เข้าใจก็ได้ แต่อย่าเพ่อเบื่อหน่ายเสียก่อน ขอให้ทนอ่านไปอีกหน่อย

ท่าน พุทธทาสภิกขุ ท่านเคยกล่าวไว้ และแยกได้เป็น ๒ จำพวกด้วยกัน คือ พวกที่นิยม ความสำราญกายในทางโลก กล่าวว่า “ใจอยู่ในกาย” แต่พวกนิยมความสำราญใจในทางธรรม กล่าวว่า “กายอยู่ในใจ” (ตรงข้ามกัน) พวกแรกรู้จักโลกเพียงซีกเดียว พวกหลังอยู่ในโลกนานพอ จนรู้จักโลกดีทั้งสองซีกแล้ว ขณะเมื่อพวกที่ชอบสำราญกายกำลังปรนเปรอให้เหยื่อแก่ความหิวของตนอย่างเต็มที่นั้น พวกที่ชอบสำราญใจ กำลังเอาชนะความหิวของเขาได้ ด้วยการบังคับอินทรีย์ จนมันสงบอยู่ภายใต้อำนาจของเขาตนเอง พวกแรก เข้าใจเอาคุณภาพของการ “ให้สิ่งสนองความอยาก” แก่ความหิวของเขาว่าเป็นความสำราญ พวกหลังเอาคุณภาพของการที่ยิ่ง “ไม่ต้องให้สิ่งสนองความอยาก” เท่าใดยิ่งดีว่าเป็นความสำราญเช่นกัน พวกหนึ่งยิ่งแพ้ตัณหามากเท่าใดยิ่งดี อีกพวกหนึ่งยิ่งชนะมากเท่าใดยิ่งดีเช่นกัน ! (ถ้าผู้อ่านสับสนโปรดอ่านอีกครั้งอย่างช้าๆ และพิจารณาไปด้วยอีกที)

ท่าน พุทธทาสภิกขุ ยังกล่าวต่ออีกว่า พวกที่ชอบสำราญกายย่อมจะแพ้ตัณหาอยู่เองแล้ว โดยไม่รู้สึกตัว ทำเอง และชักชวนลูกหลาน ให้หา ความสำราญกายอย่างเดียวกันนี้ด้วย เพราะไม่รู้จักสิ่งอื่นนอกจากนั้น ครั้นได้เครื่องสำราญกายมาใจก็ไม่สงบสุข เพราะ มันยังอยากของแปลกของใหม่อยู่เสมอไป คนชนิดนี้ในที่สุดก็มอบตัวให้แก่ ธรรมชาติฝ่ายต่ำ (หลุมดำ) ประกอบพฤติกรรมชนิดที่โลกไม่พึงปรารถนา ต่อสู้กับสิ่งที่เรียกว่าโชคชะตาไป แม้อย่างดีที่สุดคนพวกนี้จะทำได้ก็เพียงแต่ เป็นผู้ทนระทมทุกข์อยู่ด้วยการแช่งด่าโชคชะตาของตัวเองเท่านั้นไปอีก

ความสำราญทางกาย ซึ่งกำลังร่าเริงกันอยู่นั้น จำพวกฝ่ายสงบภายในใจ ย่อมรู้ดีว่า เป็นการเล่นละคร ย้อมสีหน้า ทั้งที่ตัวเองหลอกตัวเอง ให้เห็นว่าเก๋ว่าสุข บางคนต้องร้องไห้และหัวเราะสลับกันทุกๆวัน วันละหลายครั้ง จิตใจฟูขึ้นแล้วเหี่ยวห่อลงขึ้นๆลงๆ ตามที่กระเป๋าพองขึ้นหรือยุบลง หรือตามแต่จะได้เหยื่อที่ถูกใจและไม่ถูกใจ ใจของพวกนี้ยังเหลืออยู่นิดเดียวเสมอเท่าที่เขารู้สึก จึงทำให้เขาเข้าใจว่าใจอยู่ในกาย คือ แล้วแต่กาย หรือ สำคัญอยู่ที่กาย เพราะต้องต่อเมื่อเขาได้รับความสำราญกายเต็มที่แล้วต่างหาก ใจของพวกเขาจึงเป็นอย่างที่เขา เรียกว่า “สุข” แม้คนพวกนี้จะพูดว่าความสำราญใจอยู่บ้าง ก็เป็นเพียง การหลงเอาความสำราญฝ่ายกาย ขึ้นมาแทน เท่านั้น จะสำราญใจได้อย่างไร ในเมื่อใจถูกทำให้พองขึ้นหรือยุบลงเสมอ ความพองขึ้นหรือยุบลงก็ตาม ย่อมเป็นสิ่งทรมานใจให้เหน็ดเหนื่อยเท่ากัน เพียงแต่เป็นรูปร่างที่ต่างกันเท่านั้น ลาภยศสรรเสริญและความเพลิดเพลิน ทำให้พองเบ่ง เสื่อมลาภเสื่อมยศถูกสบประมาทและหาความเพลิดเพลินมิได้ ทำให้ยุบเหี่ยว แต่ทั้งสองอย่าง ทำความหวั่นไหวโยกโคลงเท่ากัน กล่าวคือ เมื่อเขาได้สมใจอยาก เขาก็ได้ความหวั่นไหว เมื่อไม่ได้ก็ได้ความหวั่นไหวเช่นเดียวกัน เมื่อมืดมนหนักเข้า ก็แน่ใจลงเสียว่าความสุข หรือขณะที่เคยสุขนั่นแหละเป็น “บิ๊กแบงภายในใจเกิดขึ้น”(พระนิพพาน) เป็นการหลงผิดของความคิด และคิดอีกว่าชีวิตเราจะต้องหาความสุขนั้นมาอีก (สุขทางโลก) แต่เมื่อคิดดู เราพอจะเห็นได้ว่า นั่นยังไม่ได้ถอยห่างออกมาจากกองทุกข์แม้แต่นิดเดียว มันเป็นเพียงความสำคัญผิดเท่านั้น และเป็นความสำคัญผิดที่จะมัดตรึงตัวเองให้ติดจมอยู่กับ “หลุมดำ” นั่นอยู่ตลอดเวลา

เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะเห็นได้สืบไปว่า การสำราญทางฝ่ายโลก หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ฝ่ายกาย หรือวัตถุ นั้นคืออะไร และเมื่อได้หมกมุ่นมัวแต่แสวงหาให้กายท่าเดียวแล้วจะเป็นอย่างไร หรืออีกอย่างหนึ่งว่า ถ้ารู้จักความสุขเฉพาะในด้านนี้ด้านเดียวแล้ว ก็จะรู้จักโลกเพียงซีกเดียวอย่างไร และยิ่งกว่านั้น คนที่รู้จักโลกเพียงซีกหนึ่งเช่นนี้ อาจหาญทำอารมณ์เหล่านี้ ให้เป็นเครื่องอำนวยความสะดวก หรือความเพลินแก่เขาได้ ซึ่งต่างกันกับผู้ที่เข้าใจโลกดีทั้งสองซีกไม่(ฝ่ายธรรม) เพราะต้องตกเป็นทาสของความมัวเมา ถึงกับบูชามันให้เป็นสิ่งสูงสุด กว่าสิ่งใดอยู่เสมอ ส่วนผู้ที่รู้จักโลกดีแล้วทั้งสองฝ่ายนั้น คือฝ่ายธรรม ย่อมบูชาความสำราญทางธรรม หรือฝ่ายใจอันแท้จริงเป็นส่วนสำคัญ และถือเอาส่วนกายหรือวัตถุเป็นเพียงเครื่องอำนวยความสะดวก ในฐานเป็นร่างที่อาศัยสำหรับรับใช้ ในการแสวงหา ความสำราญทางฝ่ายใจหรือเรียนอีกอย่างได้ว่า “จิตของตัวเรา” เท่านั้น พวกนี้จึงมีอุดมคติว่า “กายอยู่ในใจ” อย่างที่กล่าวไว้แล้ว

การเป็นอิสระเหนือวัตถุนั้นเห็นได้ยาก ตรงที่ตามธรรมดาก็ไม่มีใครนึกว่า ตนได้ตกเป็นทาสของวัตถุ แต่อย่างใด ใครๆก็กำลังหาวัตถุ มากินมาใช้มาประดับ เกียรติยศของตน และบำเรอคนที่ตนรัก ทำให้เห็นไปว่า ตัวเรานั่นเป็นนาย มีอิสระเหนือวัตถุได้ เช่น มีเงินจะใช้มันเมื่อไรก็ได้ ส่วนความหม่นหมองใจที่เกิดขึ้น มากมาย หลายประการหามีใครคิดไม่ว่า นั่นเป็นอิทธพลของวัตถุที่มันครอบงำย่ำยีเล่นตามพอใจของมัน ดวงใจได้เสีย ความสงบเย็นที่ควรจะได้ไปจนหมด ก็เพราะความโง่เง่าของตัวเองที่ไปหลงบูชาวัตถุจนกลายเป็นของมีพิษสง ขึ้นมา ดวงใจที่แท้จริงก็ไม่อาจฟักตัวเจริญงอกงามขึ้นมาได้ เพราะขาดการบำรุงด้วยอาหาร โดยที่เจ้าของไม่เคยคิดว่า มันต้องการอาหารเป็นพิเศษยิ่งกว่ากาย สัญชาตญาณทั้งหลายชวนกันขึ้นนั่งบัลลังก์บัญชาการเต็มที่ ออกคำสั่ง ทับถมดวงใจที่แท้จริงหรือธรรมชาติฝ่ายสูง จนไม่ปรากฏสาละวน แต่แสวงหาอาหารตามอำนาจฝ่ายต่ำ หรือที่เรียก ในที่นี้ว่า กาย เมื่อใจขาดอาหาร แม้แต่ที่เป็นเบื้องต้นเช่นนี้แล้ว ก็ไม่งอกงามพอที่จะแจ่มใส ส่องแสงให้ผู้นั้นมองเห็นและถืออุดมคติแห่งความสุขทางใจได้ ชีวิตก็เป็นของมืดมนต้องร้องไห้ ทั้งที่ไม่รู้เห็นว่า มีอะไรมาทำเอา

เมื่อเด็กๆที่เกิดมาในโลกไม่อาจสำนึกในปริยายนี้ได้ด้วยตนเองเช่นนี้แล้ว การศึกษาสรรพสิ่งของธรรมชาติ หรือที่เรียกว่า “ธรรม” เท่านั้น ที่จะช่วยได้ในเบื้องต้น การศึกษาธรรมทางฝ่ายหลักวิชา จึงเป็นอาหารของดวงใจในขั้นแรกและขั้นกลาง ก็คือ การย่อยหลักวิชาๆนั้น ออกด้วยมันสมองของตนเอง ได้ความรู้ความแจ่มแจ้ง ความโปร่งใส เยือกเย็น อะไรมานั่นเป็นอาหารชั้นปลายส่งเสริมกัน สืบไปให้เจริญจนสามารถไปถึง “บิ๊กแบงภายในใจ” (พระนิพพาน) ให้ปรากฏ จึงจะนับว่าถึงที่สุด

เรื่องความเจริญงอกงามของดวงใจ ท่าน พุทธทาสภิกขุ เคยกล่าวสอนไว้ว่า ความเจริญงอกงามของดวงใจหรือจิตนั้น ยังไปได้ไกลอีกมากมายนัก กล่าวคือกว่าจะถึง พระนิพพาน หรือ บิ๊กแบงภายในใจ (ที่ผู้เขียนนำมาเปรียบเทียบ) เมื่อไรนั่นแหละ จึงจะหมดขีดของทางไป แล้วมีอุดมสันติสุขอยู่ตลอดอนันตกาล ส่วนความเจริญทางกายนั้นไม่มีทางไปอีกต่อไป สูงสุดอยู่ได้เพียงแค่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เพราะว่า การแสวงหาทางฝ่ายนี้ ต้องการ “ความไม่รู้จักพอ” นั่นเอง เป็นเชื้อเพลิงอันสำคัญแห่งความสำราญ ถ้าพอเสียเมื่อใด ก็หมดสนุก ! ใครจะขวนขวายอย่างไรก็ไม่อาจได้ผลสูงไปกว่าการสยบซบซึมอยู่ท่ามกลางกองเพลิง แห่งความถูกปลุกเร้าของตัณหาความต้องการ เพราะฉะนั้น การแสวงหาทางฝ่ายใจ เพื่อดวงใจหรือจิต จึงเป็นสิ่งที่มีค่า น่าปฏิบัติทำมากกว่า เป็นศิลปะกว่า เป็นอุดมคติที่สูงกว่า จริงอยู่ที่ทำยาก แต่น่าสรรเสริญกว่า หอมหวนกว่า เยือกเย็นกว่า ฯลฯ กว่า โดยทุกๆปริยาย บิ๊งแบงภายในใจจึงจะเกิด

ดังนั้นมนุษย์เราจึงมีทางเลือกที่จะเดินทางไปว่า “หลุมดำ หรือ บิ๊กแบง” หรือจะมีอุดมคติที่จะเลือกว่า “ใจอยู่ในกาย หรือ กายอยู่ในใจ” ถ้าใจอยู่ในกายเราก็จะโดนกายบังคับใจไปลงหลุมดำ แต่ถ้ากายอยู่ในใจ ใจเราก็สามารถบังคับกายได้ และพัฒนาการฝึกให้ไปถึงบิ๊กแบงภายในใจ การแสวงความสำราญทางฝ่ายกาย เป็นต้นเหตุแห่ง “สงคราม” การแสดงความสำราญทางฝ่ายจิต เป็นต้นเหตุ “แห่งสันติภาพ”

0 Comments:

Please Comments

Sponsored Links

Thaifossil.com      ”ของแปลกของหายาก      Menu Domain      Thai Cosmic

Text Link Ads