Tuesday, August 7, 2007

ธรรมชาติของจักรวาล


แหงนหน้าขึ้นมองท้องฟ้า เราทุกคนอาจเคยสงสัยว่าอะไรนะที่ทำให้ดวงจันทร์หมุนรอบโลก โลกหมุนรอบดวงตะวัน ดวงดาวอื่นๆ ต่างก็มีทิศทางที่แน่นอนในการโคจร สิ่งเหล่านี้ดำเนินบทบาทของตนไปอย่างมีระเบียบ มีความแน่นอน อะไรคือ สิ่งกำหนดให้ดวงดาว โลก ดวงตะวัน ดวงเดือนและสิ่งต่างๆ ให้ห้วงอากาศเป็นอย่างที่มันเป็น ไม่เป็นอย่างอื่นๆ หันมามองสิ่งต่างๆ รอบกายบนพื้นโลก เราอาจเคยสงสัยว่า อะไรนะที่ทำให้เม็ดมะม่วงเมื่อนำไปเพาะจึงงอกเป็นต้นมะม่วง ไม่เป็นต้นขนุนอะไรที่ทำให้วัตถุที่หลุดจากมือเราหล่นลงสู่พื้นไม่ลอยขึ้นบนท้องฟ้า ทำไมสิ่งมีชีวิตจึงต้องกินอาหาร ไม่กินไม่ได้หรือ ดอกกุหลาบที่เราเห็นนั้นมาจากไหน มาจากอาหารและแร่ธาตุที่ต้นกุหลายกินเข้าไปแล้วแปรเปลี่ยนมาเป็นดอกกุหลาบอย่างนั้นหรือ แต่แร่ธาตุและอาหารเหล่านั้นไม่มีลักษณะอย่างดอกกุหลาบนี้ พืชและสัตว์ในโลกนี้ช่างมีมากมายเหลือกิน แต่ละเผ่าพันธุ์ต่างก็มีลักษณะไม่ซ้ำแบบกัน ใครคือผู้จำแนกประเภทของสิ่งเหล่านี้ ใครคือผู้ออกแบบลวดลายบนปีกผีเสื้อ ใครคือผู้ออกแบบโครงสร้างอันซับซ้อนภายในสมองของคนเรา ปัญหาเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในจำนวนปัญหามากมายมหาศาลที่เราสามารถหยิบขึ้นมาตั้งข้อสงสัย จักรวาลนี้ช่วงเต็มไปด้วยสิ่งลี้ลับมหัศจรรย์จริงๆ

ในอดีตมีคนไม่น้อยพยายามค้นหาคำตอบสำหรับข้อสงสัยเหล่านี้ ส่วนหนึ่งของความพยายามอันนั้นได้กลายมาเป็นสิ่งที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน ดูเหมือนจะเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า หน้าที่หลักอันหนึ่งของวิทยาศาสตร์ก็คือการเปิดเผยสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความลี้ลับมหัศจรรย์ของจักรวาล สมัยหนึ่งคนสงสัยกันว่าทำไมโลกจึงหมุนรอบดวงอาทิตย์ด้วยอัตราความเร็วที่คงที่ และด้วยเส้นทางโคจรที่แน่นอน ก็มีคนอย่างนิวตันให้คำอธิบายว่า เพราะระหว่างโลกกับดวงตะวันมีสิ่งหนึ่งยึดเหนี่ยวอยู่ สิ่งนี้นิวตันเรียกว่าแรงโน้มถ่วง หรือสมัยหนึ่งคนเราเคยรู้สึกพิศวงกับสิ่งที่เรียกว่าฟ้าร้องฟ้าแลบ ครั้นมีคนอย่างแฟรงคลินอธิบายว่า ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นผลมาจากสิ่งที่เขาเรียกว่าไฟฟ้าบนก้อนเมฆ ทุกคนก็หายสงสัย นี่คือตัวอย่างการพยายามอธิบายสิ่งลี้ลับในจักรวาลของวิทยาศาสตร์

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์นั้น สิ่งหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์มีความเชื่อร่วมกันอยู่ก็คือ ความเป็นระเบียบแห่งจักรวาล นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายมีความเชื่อว่าสิ่งที่พวกเขาค้นพบคือแง่หนึ่งของความเป็นระเบียบในธรรมชาติ ทุกครั้งที่พวกเขาค้นพบความจริงใหม่ๆ พวกเขาคิดว่าความจริงที่ค้นพบนี้ล้วนมีความประสานกลมกลืนกับความจริงที่ยังไม่ค้นพบในธรรมชาติ จักรวาลในความนึกคิดของนักวิทยาศาสตร์คือระบบมหึมาที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันอย่างประสานกลมกลืน หน้าที่ของวิทยาศาสตร์คือการพยายามเปิดเผยให้เห็นความกลมกลืนสอดคล้องกันในธรรมชาติทั้งหมด พวกเขาใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งข้างหน้า ความลี้ลับทุกแง่ทุกมุมในธรรมชาติจะได้รับการเปิดเผย

ในทัศนะของไอน์สไตน์ การทำงานของนักวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากความเชื่อบางอย่างโดยเฉพาะความเชื่อในความเป็นระเบียบของจักรวาลจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนอย่างนิวตันยืนยันเสมอว่า เขาเชื่อในพระเจ้าอย่างเต็มที่ นิวตันเคยกล่าวเอาไว้ว่า จักรวาลถูกสร้างมาอย่างเหมาะเจาะ ตัวอย่างเช่นภายในระบบสุริยะของรานี้มีดวงอาทิตย์เพียงดวงเดียว การมีดวงอาทิตย์เพียงดวงเดียวทำให้โลกเราได้รับความร้อนพอดี นั่นย่อมหมายความว่าผู้ที่วางแผนสร้างจักรวาลเป็นผู้ที่รอบรู้อย่างยิ่ง สำหรับนิวตัน ความก้างหน้าทางวิทยาศาสตร์หาใช่อะไรไม่ หากแต่คือ การเปิดเผยให้เห็นความสมบูรณ์ของพระเจ้า ยิ่งเราค้นพบกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ในธรรมชาติมากเท่าใดเราจะยิ่งทึ่งและประหลาดใจในความรอบรู้และอัจฉริยภาพของผู้ที่สร้างจักรวาลนี้มากเท่านั้น ไอน์สไตน์เอง ก็เคยมีคนเข้าใจว่าเขาเป็นคนไม่นับถือศาสนา จนกระทั่งวันหนึ่งมีคนถามเรื่องนี้กับเขา ไอน์สไตน์ตอบว่า “ข้าพเจ้าเชื่อในพระเจ้าแบบที่ สปิโนซ่ากล่าวไว้ คือ พระเจ้าผู้เปิดเผยตนเองในความกลมกลืนของสรรพสิ่ง ไม่ใช่พระเจ้าผู้คอยกำหนดชะตากรรมและการกระทำทุกอย่างของมนุษย์…”

แม้ว่าไอน์สไตน์จะไม่เชื่อพระเจ้าที่เป็นบุคคลที่คอยทำหน้าที่กำหนดชะตากรรมและการกระทำของมนุษย์ดังเช่นที่ปรากฏในคัมภีร์ไบเบิลก็ตาม แต่ไอน์สไตน์ก็ไม่ปฏิเสธพระเจ้าในความหมายที่สิโนซ่าตีความเรื่องของพระเจ้า ที่ไอน์ไตน์ยอมรับนี้ คือสิ่งเร้นลับอันแผงอยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์อันน่าพิศวงในธรรมชาติ พระเจ้าในความหมายของภาวะที่ทำให้สรรพสิ่งในจักรวาลนี้ประสานกลมกลืนกันและกัน เพราะความเชื่อที่ว่านี้ หลายครั้งที่เมื่อไอน์สไตน์ให้ความเห็นทฤษฎีที่แสดงให้เห็นว่าธรรมชาติไม่มีความประสานกลมกลืนกัน เขาจะให้เหตุผลแบบทีเล่นทีจริงว่า... พระเจ้าคงไม่สร้างจักรวาลมาสุ่มสี่ห้าอย่างนั้น

หากเราไม่ใส่ใจคำว่าพระเจ้าที่นิวตันและไอน์สไตน์กล่าวถึงนัก (เพราะเป็นคำที่สามารถสร้างปัญหาถกเถียงในทางปรัชญาได้มากมาย) เราจะเห็นว่าสาระของสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลกเหล่านี้กล่าวไว้ก็คือ เบื้องหลังการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ คือ ความเชื่อในความเป็นระเบียบของจักรวาล ความเป็นระเบียบที่ว่านี้ไม่ใช่สิ่งเร้นลับ หากแต่เป็นสิ่งที่เราสามารถประจักษ์ด้วยประสาทสัมผัสในชีวิตประจำวัน ดวงอาทิตย์ขึ้นตอนเช้าและตกตอนเย็นทุกวัน ฤดูกาลผันเวียนมาอย่างสม่ำเสมอ กฎเกณฑ์ต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับโลกก็คงไม่เปลี่ยนแปลง ระบบชีวิตของคนสัตว์ และพืชก็คงเป็นระบบเดิม นี่คือความคงที่เป็นระบบระเบียบของโลกที่เรามองเห็นได้ในชีวิตประจำวัน

พุทธศาสนาเองก็มีความเชื่อในความเป็นระเบียบของจักรวาล มีหลักธรรมอยู่หมวดหนึ่งที่แสดงถึงความเชื่อที่ว่านี้ หลักธรรมหมวดนี้มีชื่อว่า “นิยาม” นิยามมีความหมายหลายนัย แต่นิยามหนึ่งที่เราจะกล่าวในที่นี้ คือ ชาวพุทธเชื่อว่าสรรพสิ่งในจักรวาลนี้ดำเนินไปอย่างมีระเบียบ มีกฎเกณฑ์ ตัวอย่างเช่น เมื่อเอาเมล็ดข้าวเปลือกไปเพาะ เราจะได้ต้นข้าว ความสม่ำเสมอที่ว่านี้ไม่ใช่สิ่งที่เราสรุปขึ้นจากการสังเกตธรรมชาติของต้นข้าว แต่สรุปจากความเชื่อที่ว่าเบื้องหลังความสม่ำเสมอนี้มีสิ่งหนึ่งกำหนดอยู่ สิ่งนี้เป็นภาวะทางนามธรรมที่ไม่อาจสัมผัสได้ด้วยประสามสัมผัส สิ่งที่เราสัมผัสได้มีเพียงการแสดงตัวของภาวะที่ว่านี้เท่านั้น ภาวะดังกล่าวนี้ชาวพุทธเรียกว่านิยาม นิยามนี้เองที่อยู่เบื้องหลังความเป็นเหตุเป็นผลของสรรพสิ่ง จักรวาลดำเนินไปอย่างมีระเบียบก็เพราะนิยามควบคุมให้เป็นไปเช่นนั้น นิยามไม่ใช่คำสมมติเรียกภาวะที่จักรวาลดำเนินไปอย่างมีระเบียบ หากแต่เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง แม้จักรวาลนี้จะว่างเปล่าจากสรรพสิ่ง นิยามก็ยังมีอยู่ เพราะเชื่อเช่นนี้ ชาวพุทธจึงเชื่อ สมมติว่าอยู่ๆวันหนึ่ง จักรวาลนี้เกิดว่างเปล่าไม่มีอะไรเลย ในภาวะเช่นนั้นย่อมไม่มีสิ่งอันจะดำเนินไปตามการควบคุมของนิยาม นิยามก็ไม่สามารถแสดงตัวของมันออกมาได้ หากแต่อยู่ในภาวะนิ่งสงบ ต่อเมื่อใดที่มีสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นมาในจักรวาลอีกครั้ง เมื่อนั้นนิยามจะออกมาแสดงบทบาท เมล็ดข้าวเมล็ดใหม่ที่เกิดขึ้นหลังจากที่จักรวาลว่างเว้นจากการมีเมล็ดข้าว เมื่อถูกนำไปเพาะจะกลายเป็นต้นข้าวเหมือนเดิม พุทธศาสนาเราเชื่อเช่นนั้น เพราะเชื่อในความมีอยู่ของนิยาม หากนิยามเป็นเพียงชื่อที่สมมติขึ้นเพื่อเรียกอาการที่ทุกสรรพสิ่งทั้งหมดดำเนินไปอย่างมีระเบียบ เราย่อมปราศจากพื้นฐานที่จะเชื่อตามที่กล่าวมานั้น กล่าวคือ หากเราไม่เชื่อว่าคำนิยามเป็นสิ่งที่มีอยู่แม้จะไม่มีสิ่งอันใดจะดำเนินไปตามนิยาม เราย่อมไม่มีเหตุผลที่จะเชื่อว่าเมล็ดข้าวเมล็ดใหม่ที่เกิดขึ้นจะมีระเบียบในตัวมันเอง เหมือนกับเมล็ดข้าวทั้งหลายก่อนหน้าที่จักรวาลจะว่างเปล่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่อาจเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิงก็ได้ เมื่อไม่มีนิยาม อะไรจะเป็นหลักประกันได้ว่าสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่จะเป็นเหมือนที่มันเคยเป็นจากที่กล่าวมานี้ การศึกษาเชิงวิเคราะห์พุทธศาสนานิกายเซน ของท่าน รองศาสตราจารย์ ดร. สมภาร พรมทา สรุปได้ว่า เมื่อกล่าวถึงจักรวาล มีประเด็นที่คนเราสนใจอยู่สองประเด็น คือ

- จักรวาลดำเนินไปอย่างมีระเบียบหรือไม่
- หากจักรวาลดำเนินไปอย่างมีระเบียบ อะไรคือสาเหตุของความมีระเบียบดังกล่าวนั้น

จะเห็นว่าทั้งสองประเด็นนี้ ประเด็นแรกพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์มีความเห็นสอดคล้องกันว่า จักรวาลนี้ดำเนินไปอย่างมีระเบียบ แต่ประเด็นที่สอง ที่พุทธศาสนามองต่างจากวิทยาศาสตร์ นิวตันเชื่อว่าที่จักรวาลดำเนินไปอย่างมีระเบียบเพราะนั่นเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า พระเจ้าทรงควบคุมให้สิ่งเหล่านี้เป็นอย่างที่มันเป็นไอน์สไตน์เชื่อว่าเบื้องหลังความเป็นระบบระเบียบของจักรวาลคือพระเจ้าแบบที่สปิโนซ่าตีความ แม้ว่าพระเจ้าที่ไอน์สไตน์เชื่อนี้ จะต่างจากพระเจ้าของนิวตันในแง่การตีความ แค่พื้นฐานความคิดของทั้งสองคนนี้ยืนอยู่บนทัศนะแบบเทวนิยมเหมือนกัน แต่ชาวพุทธเชื่อว่านิยามที่ควบคุมความเป็นระเบียบของจักรวาลไม่ใช่พระเจ้า เพราะพุทธศาสนาไม่เชื่อในเรื่องของพระเจ้า แต่เชื่อในเรื่องของการพัฒนาตัวตนให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของนิยามที่ว่านั้น นิยามเป็นภาวะทางธรรมชาติอย่างหนึ่งเหมือนภาวะทางธรรมชาติทั้งหลาย

นิกายเซนก็มีทัศนะเกี่ยวกับจักรวาลเหมือนอย่างชาวพุทธทั่วไป จะต่างกันก็ตรงที่เวลาเซนกล่าวถึงสิ่งที่ควบคุมความเป็นระเบียบของจักรวาลเซนชอบใช้คำว่า “ตถตา” แทนคำว่านิยาม ความเข้าใจเรื่องตถตานี้เซนถือว่าสำคัญมาก หากเราเข้าใจเรื่องตถตาเท่ากับเราเข้าใจเนื้อแท้ของจักรวาลทั้งหมด ตถตาจะบอกเราว่า สรรพสิ่งล้วนเกี่ยวเนื่องอาศัยเป็นปัจจัยแก่กันและกัน ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นย่อมมีสาเหตุ โลกมีกฎเกณฑ์ของมันเอง กฎเกณฑ์ที่ว่านี้ไม่ขึ้นอยู่กับความชอบหรือไม่ชอบของเรา เมื่อมีปัจจัยอันจะก่อให้เกิดสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพียงพอ สิ่งนั้นย่อมเกิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าเราจะต้องการให้มันเกิดหรือไม่ก็ตาม ผู้ไม่เข้าใจตถตาย่อมเดือนร้อน กังวล หรือเป็นทุกข์ เมื่อประสบกับสิ่งที่ตนไม่ต้องการ ในอีกทางหนึ่งย่อมพอใจ อิ่มใจ หรือเป็นสุข เมื่อประสบกับสิ่งที่ตนต้องการให้เกิด แต่สำหรับผู้ที่เข้าใจในตถตา โลกธรรมเหล่านี้เขาย่อมพิจารณาเห็นว่าล้วนแล้วแต่มีเหตุปัจจัยทั้งสิ้น เมื่อสรรพสิ่งมีเหตุปัจจัย มนุษย์ย่อมไม่มีสิทธิ์ ยินดียินร้ายหรือโกรธแค้นต่อการเกิดขึ้นหรือไม่เกินขึ้นของสิ่งเหล่านี้ อุปมาเหมือนนักวิทยาศาสตร์ที่ว่า เมื่อเอาธาตุ A ผสมกับธาตุ B แล้วได้สาร C เขาย่อมไม่มีสิทธิ์ยินดีว่านั่นเป็นผลงานของเขา เพราะการเกิดของ C เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของโลก ไม่เกี่ยวกับตัวเขาเอง สุขทุกข์ในชีวิตมนุษย์ก็เช่นเดียวกัน ล้วนแต่ดำเนินไปอย่างมีกฎมีระเบียบ เมื่อเราทำสิ่งอันจะเป็นสาเหตุให้เกิดทุกข์ ทุกข์ก็ต้องเกิด เมื่อเราทำสิ่งอันจะเป็นสาเหตุให้เกิดสุข สุขก็ต้องเกิด นี่คือ กฎเกณฑ์ของโลก นี่คือ กฎเกณฑ์ของจักรวาล

พุทธะคือจิตของท่าน...
หนทางสู่ความรู้แจ้งไม่ได้ทอดไปที่ไหน...
อย่าสนใจสิ่งอื่นนอกจากจิตนี้...
ถ้าท่านขับเกวียนมุ่งขึ้นทางเหนือ...
ในขณะที่ตนเองต้องการลงใต้แล้ว ท่านจะถึงที่หมายได้อย่างไร...

บทกวีข้างต้นนี้เป็นของเรียวกัน (Ryokan, ๑๗๕๘ - ๑๘๓๑ A.D.) พระเซนชาวญี่ปุ่นสมัยโตกุงาวะ บทกวีข้างต้นนี้สะท้อนให้เห็นความเข้าใจในธรรมชาติของจักรวาลของท่านผู้แต่งได้เป็นอย่างดี ในทัศนะของเรียวกัน สรรพสิ่งย่อมดำเนินไปอย่างมีเหตุปัจจัย การปฏิบัติธรรมก็เป็นกิจกรรมอันหนึ่งที่เราจะต้องคำนึงกฎแห่งความเป็นเหตุเป็นผลของมัน เมื่อปัจจัยแห่งความรู้แจ้งพร้อมมูล การรู้แจ้งก็เกิดขึ้น การปฏิบัติธรรมจึงไม่ใช่การคร่ำเคราเอาจริงเอาจังอย่างไม่ทราบว่าสิ่งที่ตนกำลังทำอย่างนั้นจะเอื้ออำนวยให้เกิดผลหรือไม่ กล่าวคือ การรู้แจ้งหรือไม่ หากแต่การทำความเข้าใจในตถตาจนรู้ว่านี่คือเหตุปัจจัยแห่งความรู้แจ้ง จากนั้นก็ลงมือบำเพ็ญปฏิรูปอันจะนำไปสู่ความรู้แจ้งดังกล่าว เมื่อเหตุปัจจัยเกิดมีจนอยู่ในระดับเพียงพอจะยังผลให้เกิด กล่าวคือ ความรู้แจ้งก็เกิด เท่านั้นเอง ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้

คนเราคือ อณูหนึ่งในจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาล ภายในจักรวาลนี้มีสิ่งที่เรายังไม่รู้มากมายนับอนันต์ ความรู้มนุษย์ที่มีอยู่เวลานี้ เป็นเพียงความรู้ที่มีอาณาบริเวณอย่างมากก็แค่เพียง ภายในระบบสุริยะจักรวาลของเราเท่านั้น นอกเหนือจากนั้นไป ภายในห้วงอวกาศอันลึกลับซับซ้อน เราไม่อาจแน่ใจได้ว่าจะมีสิ่งอันใดอยู่เกินเลยสติปัญญาของเราที่จะเข้าใจได้หรือไม่ จะอย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ถือว่าไม่อยู่เกินเลยวิสัยที่เราจะเข้าใจได้ก็คือ ตัวเราเอง มนุษย์ต่างจากเศษหินเศษดินก็ตรงที่รู้จักตัวเอง รู้จักตั้งคำถามเกี่ยวกับสถานะของตนเอง การทำความเข้าใจจักรวาลทั้งหมดจะไม่สมบูรณ์เด็ดขาด หากเราลืมที่จะผนวกตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาลและธรรมชาติด้วยแล้ว มนุษย์จึงมีความเป็นประติสัมพันธ์กันกับธรรมชาติและจักรวาล ซึ่งมีอยู่สามมิติความสัมพันธ์ของมนุษย์ ดังที่จะกล่าวต่อไปนี้ ...

0 Comments:

Please Comments

Sponsored Links

Thaifossil.com      ”ของแปลกของหายาก      Menu Domain      Thai Cosmic

Text Link Ads